ร่างกายคนเรา “อดอาหาร-ขาดน้ำ” ได้นานแค่ไหน

05 มี.ค. 2566 | 00:09 น.

การอดอาหารของ“ตะวัน-แบม” นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม ที่ดำเนินมา 40 กว่าวันจนร่างกายทรุดต้องถูกนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำให้หลายคนมีคำถามว่า จริงๆแล้วร่างกายคนเราสามารถยืนหยัดอดอาหารได้นานแค่ไหน

 

จากกรณี การอดอาหาร ของ “ตะวัน-แบม” หรือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 40 วันแล้ว จนสภาพร่างกายที่ทรุดลงทำให้ทั้งคู่ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งดังที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ร่างกายของคนเราสามารถ “อดอาหาร” ได้ยาวนานมากน้อยเพียงใด และการอดอาหารนานๆ จะส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างไร

โดยทางการแพทย์นั้น ปกติร่างกายของคนทั่วไปจะทนต่อภาวะขาดอาหารได้ตั้งแต่ 30 - 60 วัน ในช่วงระหว่างนี้อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงร้อยละ 30 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งหากอายุยังน้อยความแข็งแรงของร่างกายก็จะมีมากกว่าคนอายุ 40 ปีขึ้นไป

ปกติร่างกายของคนทั่วไปจะทนต่อภาวะขาดอาหารได้ตั้งแต่ 30 - 60 วัน

ส่วน กรณีการขาดน้ำ ร่างกายคนปกติทั่วไปจะทนต่อภาวะขาดน้ำได้ 3-7 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากการที่ร่างกายขาดน้ำเรื่อยๆ จะทำให้ขับปัสสาวะไม่ออก ของเสียภายในร่างกายเกิดการสะสมมากขึ้น อาจเกิดภาวะไตวาย ความดันต่ำลง หรืออาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้ในที่สุด

อันตรายของการอดอาหาร

ในแต่ละวันร่างกายจะได้รับพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การที่เราอดอาหารเป็นเวลานานจะทำให้ไม่มีพลังงานเข้าไปในร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วงแรกที่เริ่มขาดพลังงานจากสารอาหาร ร่างกายจะทดแทนด้วยการไปใช้พลังงานจากส่วนอื่นแทน โดยปกติร่างกายเราใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นตัวเผาผลาญทำให้ร่างกายมีพลังงานกล้ามเนื้อขยับได้ สมองคิดได้ หัวใจสูบฉีด เป็นต้น

แต่หลังจากร่างกายมีการดึงน้ำตาลกลูโคสมาใช้เรื่อย ๆ จนหมด ร่างกายจะมีการสลายตัวไขมัน หรือการดึงไขมันในร่างกายของเราออกมาใช้ โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “คีโตน” เปรียบเสมือนโมเลกุลของน้ำตาล

แต่ถ้ากระบวนขาดสารอาหารยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนร่างกายดึงทุกส่วนมาใช้หมดแล้ว ก็จะเริ่มดึงเอาโปรตีนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแหล่งสุดท้ายที่มีอยู่มาใช้ทดแทน โปรตีนเหล่านี้อยู่ในกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง และเส้นผม เมื่อโปรตีนในร่างกายถูกย่อยแล้วจะกลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสอีกครั้งที่ตับ ทำให้สมองของเรายังทำงานอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายดึงเอาโปรตีนมาใช้ มวลกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายจึงจะค่อยๆ ลีบเล็ก แบนลงไปเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย และถ้ายังขาดอาหารต่อไป ร่างกายจะไม่มีพลังงานอะไรให้ออกมาใช้เพื่อดำรงชีวิตได้อีก ก็จะเสียชีวิตได้ในที่สุด

ร่างกายคนเราขาดน้ำได้เพียง 3-7 วันเท่านั้น

การอดอาหารเป็นเวลายาวนานจนเกินไป ส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่ใช่แค่เรื่องการขาดสารอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลเชื่อมโยงกับเรื่องจิตใจด้วย เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความซึมเศร้า ความหิว หรือความอยากรับประทานของคนเราก็จะลดลง

หลังอดอาหารมาหลายวัน ใช่ว่าจะกลับมากินได้ทันที

ผู้ที่อยู่ในภาวะอดอาหารติดต่อมาหลายวัน เมื่อต้องการจะเริ่มกลับมารับประทานอาหารอีกครั้งนั้น ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติเช่นกัน โดยต้องเลือกรับประทานอาหารที่พร้อมจะดูดซึม อย่างเช่น “อาหารเจล” ที่พร้อมจะปรับลำไส้ เพื่อรับประทานไปแล้วสามารถดูดซึมได้เลย โดยรับประทานต่อเนื่องแบบนี้ไปประมาณ 4-7 วัน เพื่อทำให้ร่างกายมีการปรับตัวด้วยการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา และกลับมาย่อยอาหารหรือดูดซึมเองได้

ทั้งนี้ ต้องจำกัดชนิดอาหารและปริมาณในแต่ละวันให้เหมาะสม โดยค่อยๆ เพิ่มการรับประทานอาหารขึ้นมาทีละขั้นตอน แต่ยังไม่ควรจะเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดมากจนเกินไป ระหว่างนี้ ควรมีการสังเกตอาการควบคู่กันว่าร่างกายมีการถ่ายเหลวอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีการถ่ายเหลวอยู่ก็แปลว่าร่างกายยัง “ไม่พร้อม” ที่จะย่อยและดูดซึม

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารหลังจากที่อดอาหารมานานต้องพึงระวัง “ภาวะรีฟีดดิ้ง ซินโดรม” (Refeeding Syndrome) เนื่องจากร่างกายเราไม่ได้รับสารอาหารนั้นเลย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารโดยทันที จะทำให้เซลล์ทุกอย่างในร่างกายเริ่มซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายพร้อมๆ กัน และดึงพลังงานนำไปใช้พร้อมกันหมด ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน สามารถทำให้เกิดอาการชา ตะคริว ชัก หรือเกร็งได้ ในขณะเดียวกัน การสร้างเซลล์ใหม่ๆ เราต้องใช้วิตามินบี 1 เข้าไปช่วยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท