สายพันธุ์ย่อยโควิด 2566 ปีที่สดใส หลังเผชิญกว่า 3 ปี

06 ก.พ. 2566 | 03:20 น.

"หมอธีระวัฒน์" เผย สายพันธุ์ย่อยโควิดปี 2566 ปีที่สดใส หลังเผชิญกว่า 3 ปี พร้อม 4 ปัจจัยที่มนุษย์ปลอดภัยขึ้นหรือคุ้มครองให้ไม่มีอาการหนักหรือเสียชีวิต 

สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันหลังเผชิญมากกว่า 3 ปี มีความคืบหน้าที่ดูจะสดใสขึ้น เรื่องนี้ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุว่า สายพันธุ์ย่อยโควิดปี 2566 เป็นปีสดใสแล้ว ควรจะเป็นปีที่สดใสในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับโควิดที่เผชิญมาตลอด 3 ปี การประเมินไม่ได้อยู่ที่ตัวไวรัสอย่างเดียว อย่างที่ได้จากข้อมูลของหลอดทดลองทางห้องปฏิบัติการหรือสัตว์ทดลอง ซึ่งสามารถทำให้เกิดความรุนแรงในด้านการติดและการเกิดอาการหนัก แต่ต้องควบรวมกับปัจจัยในมนุษย์

นพ.ธีระวัฒน์ ไล่เรียงให้ได้เห็นภาพ โดยเริ่มจาก "ยุคโอไมครอน" ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา กระทั่งมีโอไมครอน4และ5ในกลางปี เเล้วมีสายพันธุ์ย่อย แต่ตัวเลขของการที่ต้องเข้าโรงพยาบาลที่มีอาการหนักและตัวเลขของการเสียชีวิตนั้นไม่ได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับในยุคก่อน (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) ทั้งๆที่ในช่วง3-4 เดือนหลังของปี 2565 จะมีการใช้ชีวิตเกือบหรือเป็นปกติแบบสมัยก่อนโควิด ในแทบทุกประเทศทั่วโลก

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มนุษย์ปลอดภัยขึ้นหรือคุ้มครองให้ไม่มีอาการหนักหรือเสียชีวิต 

1.ผลดีสะสมของวัคซีน ทั้งเชื้อตายและ แอสตรา และ mRNA 

 2.ผลของการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ ที่ไม่ได้ประเมินจากระดับแอนติบอดีในเลือด แต่เป็นการเตรียม พร้อมของระบบภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์ทันที เช่น โดยเซลล์นักฆ่า

3.อีกประการสำคัญที่กำหนดความรุนแรงคือ “ต้นทุนสุขภาพ” ไม่ว่าจะอายุเท่าใด โดยไม่อ้วน ออกกำลังสม่ำเสมอ ไม่มีหรือมีโรคประจำตัว แต่ควบคุมได้เต็ม 100 และกินอาหารที่เป็นผักผลไม้กากใยเป็นประจำ แป้งไม่มาก เนื้อสัตว์น้อยมาก แต่ ปลา กุ้ง หอย ปู ได้

รวมทั้งอาจมีผลจากการที่ได้รับเชื้อโรค ต่างๆทีละเล็กทีละน้อย มาเป็นเวลานาน หรือพูดง่ายๆว่า สัมผัสกับ “ความสกปรก” อยู่บ้าง ทั้งยังมีแดดเป็นตัวส่งเสริมให้สุขภาพดีและมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต้านทานเชื้อ ไม่ใช่แต่ไวรัสอย่างเดียว แต่เป็นเชื้อทุกอย่าง และเป็นไปได้ที่มีการสัมผัสเชื้อไวรัสที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ข้ามกลุ่มไปต่อสู้กับโควิดได้ ตัวอย่างก็คือ ในประเทศแถบแอฟริกา

เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการฉีดวัคซีนน้อยมาก แต่การติดโควิดและอาการหนักและเสียชีวิตน้อย รวมทั้งประเทศอินเดีย และในประเทศจีนเองซึ่งใช้วัคซีนเชื้อตายแต่เมื่อมีการระบาดของโอไมครอน ถึงแม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากมาย แต่ผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลนั้น มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับประชากร และสามารถ รักษาให้หายได้โดยเร็ว (จากข้อมูลของประเทศจีนโดยตรง)

4.การที่ต้องรักษาทันที โดยเฉพาะในประเทศ ไทย ด้วยฟ้าทะลายโจร ตั้งแต่เริ่มไม่สบายไม่ต้องรอขึ้นสองขีด เพราะจะขึ้นช้ามาก จะพลาดโอกาสทอง และต้องกินให้ถูกขนาดตามปริมาณของตัวออกฤทธิ์

แอนโดรโฟร์ไลท์ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นเวลาห้าวัน โดยในการรักษาโควิดนั้น กินตามข้างซองยาไม่ได้ เพราะขนาดจะไม่เท่ากัน โดยต้องใช้มากขึ้นเมื่อใช้กับโควิด (ยาต้านไวรัสที่ใช้ทั้งหมด ไม่ใช่แต่ฟ้าทะลายโจร ต้องใช้รวดเร็วตั้งแต่ต้นและอาการน้อยจึงจะได้ผล) โดยต้องตระหนักว่า ฟาวิพิราเวียร์เริ่มมีการดื้อตั้งแต่กลางปี 2565 เป็นต้นมา

ประโยชน์ของวัคซีน

ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA และวัคซีนรุ่นใหม่ที่ควบรวมสายพันธุ์ BA4/5 เข้าไปด้วย ผลปรากฏว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ BQ XBB BX7 ดื้อต่อวัคซีนทั้งหมด รวมทั้งวัคซีนรุ่นใหม่ กันติดไม่ได้ แม้ว่าอาจจะลดอาการหนักได้ แต่ไม่ดีเท่ากับการติดเชื้อตามธรรมชาติที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯเองรวมกระทั่งถึงสถาบันในยุโรปและในอังกฤษ

การฉีดวัคซีน mRNA ต้องประเมินความเสี่ยงของหัวใจอักเสบ ถึงแม้เข้าใจว่าเกิดไม่มากแต่ถ้าเกิดแล้วความรุนแรงอาจสูง

รายงานจากคณะแพทย์เยอรมันทางพยาธิวิทยาที่มีชื่อเสียง พิสูจน์จากการตรวจศพของผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA และเสียชีวิตเฉียบพลันภายใน 7 วัน จำนวน 25 ราย อายุ 45–75 ปี

โดยแสดงความผิดปกติในกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจ มีการอักเสบเป็นหย่อมๆ และทำให้สามารถสรุปได้ว่าทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ รายงานวันที่ 27 พฤศจิกายน 2022

 ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่าที่ประเมิน และความรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจจะมากกว่าที่เคยคิดหรือไม่ เนื่องจากการรายงานทั่วโลกเป็นการรายงาน retrospective แบบย้อนหลัง และมักตัดประเด็นเฉียบพลันออก โดยลักษณะของอาการเช่นนี้เป็น sudden death คือหัวใจหยุดเต้นกะทันหันจากกระแสไฟฟ้าผิดปกติ ไม่ใช่หัวใจวาย ที่พอมีเวลาและมีอาการให้เห็นก่อน

ผลแทรกซ้อนของวัคซีน จากความเป็นไปได้ จะเพ่งเล็งประเด็นที่ (1) และ (2) โดยอาจมองข้าม (3)

1.เรื่องเส้นเลือดในหัวใจตัน หรือ 2. ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั่วไป คือหัวใจวาย แต่ในกรณีนี้ 3. เป็นกระจุกของเซลล์อักเสบที่อยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ที่ไปขัดขวางเส้นใยประสาทนำไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หยุดเต้นกะทันหัน และถ้ากระตุ้นหัวใจขึ้นมาได้ จะตามต่อด้วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั่วไป ทำให้หัวใจบีบตัวไม่ไหวตามด้วยหัวใจวาย

โควิดสายย่อยใหม่นี้ นอกจากดื้อวัคซีน ยังดื้อต่อโมโนโคลนอลแอนติบอดีทุกชนิดแล้ว ที่ใช้ในการรักษาและรวมถึงชนิดที่ใช้ป้องกันที่มีฤทธิ์ยาวนานหลายเดือน (Evusheld) ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ และในยุโรปและในอังกฤษ

"ในปีใหม่นี้และตลอดไป การรักษาต้นทุนสุขภาพควรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งไม่ได้ป้องกันแต่โรคติดเชื้ออย่างเดียว แต่จะทำให้มีความเสี่ยงลดลงอย่างมาก สำหรับโรคไม่ติดเชื้อและมะเร็ง นอกจากนั้น คนที่มีต้นทุนสุขภาพสูง อาจใช้ชีวิตแบบปกติตามสถานรื่นเริง แต่ตระหนักอยู่เสมอว่า ถ้าติดเชื้อตนเองไม่ตายแต่อาจเอาเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้ใหญ่เปราะบางที่บ้าน ดังนั้น หลังเฮฮา อาจแยกตัวห่างๆ ประมาณสามวัน อาจจะปลอดภัย สำหรับคนรอบตัวด้วย"

ข้อมูล : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha