ส่อง 3 ปัจจัยที่ทำให้ "โควิด 19" มีความรุนแรงลดลงจากอะไร เช็คเลย

28 ม.ค. 2566 | 01:23 น.

ส่อง 3 ปัจจัยที่ทำให้ "โควิด 19" มีความรุนแรงลดลงจากอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอยงเผยไวรัสพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้อยู่กับมนุษย์ พร้อมมีการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อ

โควิด 19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีจุดสิ้นสุดในเร็ววันนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือความรุนแรงของโรคที่ลดลงจากหลายปัจจัย

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีข้อความระบุว่า

โควิด 19 ความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด

โรคโควิด 19  มีแนวโน้มความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด ด้วยปัจจัยหลายอย่างคือ

1.การพัฒนาของไวรัสเพื่อความอยู่รอด ไวรัสพัฒนาตัวเองให้มีความรุนแรงลดลง เพื่อจะได้อยู่กับมนุษย์ เพราะถ้าทำให้เกิดความรุนแรงหรือเสียชีวิตตัวไวรัสเองก็อยู่ไม่ได้ การพัฒนาวัคซีนสมัยก่อนเช่น โปลิโอวัคซีน การทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ลง จะเอาไวรัสมาเพราะเชื้อไปเรื่อยๆ ผ่านหลายๆครั้ง เมื่อนานเข้าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วจึงเอามาทำเป็นวัคซีน 
 

เช่นเดียวกันกับเชื้อโควิด 19 เมื่อติดในมนุษย์ผ่านไปเป็นจำนวนรอบมากๆ นานเข้า ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมลดความรุนแรงมาโดยตลอด อัตราการเสียชีวิตของทั่วโลกลดลงจาก 3-5% มาเหลืออยู่ที่ประมาณ 1%หรือน้อยกว่า ตัวเลขที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลก แต่ยอดการเสียชีวิตกับการติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก 

จะพบว่ายอดการติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตจริงๆก็จะยิ่งน้อยลงไปมากๆ สำหรับประเทศไทยอัตราการเสียชีวิต ลดลงจาก 1% ในตอนแรก เหลือขณะนี้น้อยกว่า 0.1% และยิ่งในคนปกติด้วยแล้วไม่น่าจะแตกต่างกับไข้หวัดใหญ่ 

2.การติดเชื้อในมนุษย์ มีเป็นจำนวนมากคาดว่าน่าจะเกินกว่า 70% ขึ้นไปของประชากร เช่นเดียวกับในประเทศไทยเราทำการศึกษาของเรา ก็พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 70% ของประชากร หรือประมาณมากกว่า 50 ล้านคน และประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 80%  ทำให้เกิดภูมิต้านทานแบบลูกผสม ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น กว่าวัคซีนอย่างเดียวหรือติดเชื้ออย่างเดียว และพิสูจน์แล้วว่าลดความรุนแรงของโรคลงได้ไม่ว่าเชื้อนั้นจะกลายพันธุ์มาถึง XBB.1.5

ส่อง 3 ปัจจัยที่ทำให้ "โควิด 19" มีความรุนแรงลดลง

3.ลำพังวัคซีนอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ในขณะเดียวกันวัคซีนกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมากกว่าการติดเชื้อ เช่น mRNA วัคซีน ยิ่งมีผลไปกดดันไวรัสให้หลีกหนีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของตัวไวรัส จึงทำให้เกิดการกลายพันธุ์มาโดยตลอด 
 

โดยหลักการตามวิวัฒนาการแล้ว เมื่อมีอะไรไปกดดัน ไวรัสก็พยายามหลีกเลี่ยง ดังนั้นภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนที่สูงมากจึงไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้เลย แต่ระบบภูมิต้านทานในบางระบบช่วยในการลดความรุนแรงของโรค

โดยสรุปในบ้านเรา มีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 70%  และ มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว  2 เข็ม มากกว่า 80% ประชากรส่วนใหญ่จึงมีภูมิต้านทานแบบลูกผสม ที่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดีถึงแม้ว่าเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ XBB.1.5 ที่กำลังจะเข้ามา ( ขณะนี้เป็นสายพันธุ์หลักในอเมริกา)