ทำความรู้จัก 'โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา' อันตราย! แต่ไม่ติดต่อ

27 ธ.ค. 2565 | 04:28 น.

กรมควบคุมโรค เผยโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ติดเชื้อแล้วอาจเสียชีวิตอย่างรวดเตร็ว พร้อมแนะวิธีป้องกัน

 

จากเหตุชาวเกาหลีใต้เสียชีวิตจาก โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) 1 ราย หลังเดินทางกลับจากประเทศไทย ‘กรมควบคุมโรค’ ได้ออกเตือนประชาชนที่ สำลักน้ำใช้หรือเล่นน้ำ ที่ไม่สะอาดจากเเหล่งน้ำสาธารณะ มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคดังกล่าว พร้อม เเนะ 4 วิธีป้องกัน แม้โรคนี้จะพบน้อยก็ตาม

 

นายเเพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุวันนี้ (27 ธ.ค.) ว่า จาก รายงานข่าวมีผู้เดินทางชาวเกาหลีใต้ติดเชื้อเเละเสียชีวิต ด้วยอาการสมองอักเสบจากการติดเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) หลังเข้ามาพำนักและเดินทางออกจากประเทศไทย จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้ทำความรู้จักโรคดังกล่าว และเป็นแนวทางป้องกันตนเอง ดังนี้

 

เชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri)

 

  • โรคสมองอักเสบจากการติดเชื้ออะมีบา มักมีอาการ 1-12 วันหลังได้รับเชื้อ (เฉลี่ยประมาณ 5 วัน) ที่เข้าทางจมูกและเชื้อเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

  • โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ทั้งนี้ ในช่วง 40 ปี (พ.ศ.2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนี้ 14 คน (82%) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย

 

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน

 

วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด
  2. ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆทางจมูก
  3. รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ
  4. ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้เเพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย

 

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติม คือ

  1. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน
  2. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก
  3. สระว่ายน้ำควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร

 

โรคนี้ในอดีต

ในอดีตหลายคนเรียกโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา ว่า " โรคอะมีบากินสมอง" ขณะที่ทางการแพทย์เรียกว่า Primary amebic meningoencephalitis (PAM)

 

มีรายงานครั้งแรกเกี่ยวกับโรคนี้จากประเทศออสเตรเลียเมื่อปีพ.ศ. 2508 ขณะที่ทั่วโลกมีรายงานเกี่ยวกับโรคดังกล่าวประมาณ 400-500 รายในเวลานั้น ส่วนในไทยก็พบผู้ป่วยน้อยมาก ครั้งแรกรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ในไทยปี 2525 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุเฉลี่ย 15.2 ปี



คนไทยจึงไม่ควรตระหนกกับโรคอะมีบากินสมอง เพราะปีหนึ่งๆ เด็กไทยอายุ ระหว่าง 1-4 ปี เสียชีวิตจากการเล่นน้ำและจมน้ำตายเฉลี่ยปีละ 1,481 ราย หรือ เฉลี่ยวันละ 4 ราย ถือเป็นสาเหตุการตายสูงสุดสำหรับเด็กวัยนี้มากกว่าสำลักน้ำแล้วติดเชื้ออะมีบากินสมองไม่รู้กี่เท่า

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล