รู้จัก"อีโบลา"อาการเป็นอย่างไร มีกี่สายพันธุ์ แนวทางรักษามีหรือไม่

25 ต.ค. 2565 | 07:57 น.

เกาะติดสถานการณ์ "โรคอีโบลา"ทั่วโลกและไทย ความพร้อมของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมืออีโบลา เช็คเลยมีกี่สายพันธุ์ -อาการของโรคเป็นอย่างไร ติดต่อกันทางไหน มีวัคซีนหรือแนวทางรักษาหรือไม่ ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่

สถานการณ์ของโรคอีโบลา ที่กำลังแพร่ระบาดอีกครั้งในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศยูกันดา ทำให้ทั่วโลกเริ่มหวั่นวิตกและจับตามองโรคระบาดนี้อย่างใกล้ชิด และแม้ว่าปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศแต่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยตอนนี้เริ่มมีแนวทางการรับมือโรคระบาดนี้แล้ว

 

วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมสถานการณ์ภาพรวมของโรคอีโบลาทั่วโลกว่าเป็นอย่างไรบ้าง (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 65)และประเทศไทยเตรียมแผนรับมืออย่างไร รวมไปถึงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรค การติดต่อ แนวทางการรักษา มานำเสนอ 

 

สถานการณ์อีโบลาทั่วโลก
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) 

 

การระบาดครั้งล่าสุดนี้ แม้ผู้ป่วยยังไม่มากแต่มีการจับตากันอย่างใกล้ชิด หลายประเทศยกระดับมาตรการควบคุม ในส่วนของ องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่จะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ  
 

การรับมือโรคอีโบลาของไทย 
ในประเทศไทยแม้จะยังไม่มีผู้ป่วยโรคอีโบลา แต่กรมควบคุมโรคได้วางแผนรับมือตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย 


รู้จักโรคอีโบลา
โรคอีโบลา อยู่ในกลุ่มโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง พื้นที่การระบาดของโรคนี้พบมากในแถบแอฟริกา โดยมี 5 สายพันธุ์ได้แก่ 


1.สายพันธุ์ชาร์อี (Ebola-Zaire) พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2519 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมแม่น้ำอีโบลา ในเมืองยัมบูกู ประเทศซาอีร์ 


2.สายพันธุ์ซูดาน (Ebola-Sudan) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ในเขตชนบทห่างไกลของประเทศซูดาน


3. สายพันธุ์เรสตัน (Ebola-Reston) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532-2533 ในลิงจากประเทศฟิลิปปินส์ในสถานกักกันของห้องปฏิบัติการที่เมือง Reston ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดโรครุนแรงในลิง มีลิงตายจำนวนมากและมีคนติดเชื้อ 4 ราย แต่ไม่มีใครแสดงอาการเจ็บป่วยจากเชื้อนี้


4. สายพันธุ์ Ebola-cote d’lvoire พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ที่ประเทศโกตติวัวร์ (cote d’lvoire) มีลิงป่วยหลายตัวและมีผู้ป่วย 1 รายติดเชื้อจากการชำแหละลิง ผู้ป่วยรายนี้มีอาการแสดงของโรคแต่ไม่เสียชีวิต


5. สายพันธุ์บุนดีบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งระบาดในตำบล Bundibugyo ที่ประเทศยูกันดา
 

การติดต่อ

  • สัมผัสโดยตรง กับ เลือด สิ่งคัดหลั่ง อวัยวะ หรือน้ำจากร่างกายผู้ติดเชื้อ งานศพ ญาติผู้เสียชีวิตที่สัมผัสร่างกายของผู้เสียชีวิต ผู้ดูแลลิงชิมแปนซี กอริลลาที่ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รักษาผู้ป่วยอีโบลา โดยไม่ป้องกัน ระยะแพร่เชื้อ ตั้งแต่เริ่มมีไข้ และตลอดระยะที่มีอาการ

 

อาการของโรค

  • ระยะฟักตัว 2-21 วัน โรคนี้ พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยมีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ตามด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน ผื่น ไตและตับไม่ทำงาน บางรายมีเลือดออกทั้งภายในและภายนอก ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำ 

 

การรักษา 

  • ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา ส่วนวิธีการรักษาที่ทำได้คือการประคับประคองและใช้ยาต้านเชื้อโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน

 

การควบคุมโรคมีขั้นตอนอย่างไร

  • แยกผู้ป่วย และเน้นมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
  • ติดตามผู้สัมผัสทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่อาจจะสัมผัสกับผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยต้องตรวจอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้ง เมื่อมีไข้ต้องรีบมาโรงพยาบาลและเข้าห้องแยกทันที
  • เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคน ต้องมีการแจ้ง/บอกให้ทราบ ถึงโรคและการติดต่อ เน้นวิธีการป้องกันขณะดูแลผู้ป่วย และการจัดการเลือด สิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย

 

สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ
สิ่งที่ควรทำ
1. หลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด 
2.  ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข
3.  หากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด ต้อง

  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยหรือสัมผัสผู้ป่วย รวมเสื้อผ้าเครื่องใช้ของผู้ป่วย
  • หากมีอาการป่วย เช่น ไข้สูง อ่อนเพลีย   ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ    อาเจียน  ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติ การเดินทาง

 

สิ่งที่ไม่ควรทำ สำหรับผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาด

  • ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด
  • ไม่สัมผัสสัตว์ป่าทุกชนิดโดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว
  • ไม่ล้วงแคะแกะเกาจมูก และขยี้ตา ด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง 
  • ไม่มีเพศสัมพันธุ์กับคนที่ไม่ใช่คู่นอนหรือคู่รัก
  • ไม่ซื้อยากินเอง เวลาเจ็บป่วยด้วยอาการไข้


 

 

 

 

ที่มาข้อมูล

  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • คู่มือปฏิบัติการโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลวิภาวดี