กรมอนามัยแนะ 6 ขั้นตอน ทำน้ำสะอาดใช้ช่วงน้ำท่วม เช็คเลย

13 ต.ค. 2565 | 05:10 น.

กรมอนามัย แนะ 6 ขั้นตอน ทำน้ำสะอาดไว้ใช้ในบ้านช่วงน้ำท่วมม ย้ำขวดพลาสติกใช้ซ้ำต้องไม่มีรอยขีดข่วน ไม่มีคราบสกปรก ต้องทำความสะอาดทุกครั้ง

วันที่ 13 ต.ค.65 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนเป็นระยะเวลาหลายวัน ส่งผลให้ระบบประปาหรือน้ำบ่อตื้นไม่สามารถใช้งานได้ เพื่อให้ครัวเรือนมีน้ำสะอาดไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นำมาซักเสื้อผ้า ล้างสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน  รวมไปถึงนำมาใช้อาบชำระล้างสิ่งสกปรกจากร่างกาย จึงขอแนะนำวิธีทำน้ำสะอาดอย่างง่าย ๆ ไว้ใช้ในบ้าน ตามขั้นตอน คือ

 

 1.ตักน้ำในบริเวณที่น้ำไม่เน่าเสียหรือมีกลิ่นเหม็น และบริเวณที่น้ำไหลไกลจากห้องน้ำ ห้องส้วม มาใส่ถังที่มีลักษณะทรงกระบอก เช่น ถังพลาสติก 50 – 100 ลิตร 

2. ตักเอาเศษสิ่งของที่ปนมากับน้ำออกให้หมด เช่น ใบไม้ เศษไม้ เศษวัชพืช

 

3.ใช้มือจับก้อนสารส้มจุ่มลงไปในน้ำลึกประมาณ 2 ใน 3 ของความลึกน้ำในถัง 

4.ใช้มือที่จับสารส้มกวนน้ำเป็นแนววงกลมให้สารส้มละลาย โดยช่วงแรกให้กวนเร็วจนสังเกตเห็นตะกอน
ที่เกิดขึ้นมีปริมาณมาก แล้วจึงค่อยลดความเร็วในการกวนลงจนตะกอนมีขนาดใหญ่ ให้หยุดกวน ตั้งทิ้งไว้          ประมาณครึ่งชั่วโมงจนตะกอนตกสู่ก้นถัง

 

5.ค่อย ๆ ตักน้ำใสส่วนบน หรือใช้วิธีกาลักน้ำ ถ่ายเทน้ำใสส่วนบนใส่ภาชนะที่สะอาด และวัดปริมาตรน้ำที่ได้

 

6.หยดคลอรีนน้ำ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือหยดทิพย์ที่กรมอนามัยจัดทำขึ้น ในปริมาณ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที โดยให้คลอรีนละลายในน้ำและฆ่าเชื้อโรคอย่างทั่วถึงก่อนนำน้ำมาใช้

 

“ทั้งนี้ น้ำที่ผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดยังไม่เหมาะที่จะนำมาดื่ม หรือปรุงประกอบอาหาร แม้จะนำมาต้มผ่านความร้อนก็ตาม เนื่องจากอาจจะมีสารเคมีบางชนิดปนเปื้อนมากับน้ำท่วม และความร้อน ไม่สามารถทำลายได้ จึงเหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดภายในครัวเรือนเท่านั้น เช่น ซักเสื้อผ้า ล้างสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้อาบน้ำ สำหรับน้ำบริโภคควรใช้น้ำดื่มบรรจุขวดแทนจะปลอดภัยที่สุด แต่เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมผู้ประสบภัยอาจจะนำขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำ ซึ่งบางครั้งไม่ได้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณปากขวด       และฝาขวดที่เกิดจากการใช้ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และการขัดถูขวดน้ำ         เพื่อทำความสะอาด อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วน หรือหากขวดน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความร้อน อาจทำให้ขวดพลาสติกเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีจากขวดพลาสติกได้

 

ดังนั้น หากจำเป็นต้องนำขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำ  ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึง และสังเกตลักษณะขวดหากพบรอยขีดข่วน คราบสกปรก ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก”  อธิบดีกรมอนามัย กล่าว