มติสภาฯ รับหลักการร่างกฎหมายคุม “น้ำเมา” 5 ฉบับรวด

27 มี.ค. 2567 | 12:17 น.

สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระแรกร่างกฎหมายคุม “น้ำเมา” 5 ฉบับ ด้วยคะแนน 389 ต่อ 9 ตั้งกมธ. 42 คน "หมอชลน่าน” ชี้รัฐบาลตั้งกก.ศึกษาผลกระทบทั้งมิติเศรษฐกิจ-สุขภาพ เพื่อเป็นคำตอบว่าอะไรเหมาะสมที่สุด

วันนี้( 27 มี.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ  คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 
ร่างของ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ ร่างของ นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ

และ ร่างของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่ง ครม.รับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และส่งคืนมายังสภาฯ เพื่อพิจารณา และร่างของ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ เนื่องจากเนื้อหาหลักการคล้ายกัน จึงให้พิจารณาไปในคราวเดียวกันรวม 5 ฉบับ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ชี้แจงเหตุผลร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ของ ครม.ว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 วันที่ 16 พ.ย.2515 คือ

1.แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสื่อสารการตลาด และเพิ่มบทนิยาม คำว่า ผู้มีปัญหาจาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

2.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ 

3.ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

4.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้อำนาจรัฐมนตรี ประกาศกำหนดข้อยกเว้นบริเวณในสถานที่ราชการ ที่ให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

5.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่ หรือ บริเวณที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สถานที่หรือบริเวณที่จัดบริหาร เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า 

6.เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณา 

7.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดรักษา หรือ ฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รวมถึงผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

8.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 

9.ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 

10.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยเพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 

และ 11.ยกเลิกประกาศคณะปฏิติฉบับที่ 253
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พ.ร.บ.ฯ ปี 2551 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 16 ปี ซึ่งมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และ ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือ ไม่สอดคล้อง เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน 

และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก เข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี ที่กฎหมายใช้บังคับหรือ เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข 

จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ดังนั้น จึงอยากให้สมาชิกรับหลักการทุกฉบับ เพื่อส่งต่อไปสู่วาระที่ 2 มีคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดถึงความเหมาะสม และมิติสุขภาพกับมิติเศรษฐกิจจะต้องมีความสมดุลกัน 

ด้าน น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล 
โดยแนะนำ สภาต้องเลิกกระมิดกระเมี้ยนกันก่อน เราต้องมีมาตรการควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ต้องเลิกมองว่าเหล้าเบียร์เป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ต้องต่อต้าน เลิกทำราวกับว่าสิ่งนี้เป็นตัวร้ายตัวเดียวที่สังคมต้องยี๊กัน 

“อยากให้มองในแง่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และขจัดทุนผูกขาดไปด้วย หากอยากแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรอย่างยั่งยืน ลองเอาลำไย มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ที่มีวันหมดอายุ มาบรรจุใส่ขวดเป็นเหล้า หรือ เบียร์ ขาย สามารถยืดได้ทั้งอายุ และเพิ่มมูลค่าของพืชผลการเกษตรได้ด้วย”

น.ส.รัชนก กล่าวว่า เราสามารถช่วยกันระเบิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เอา 5 แสนล้านบาทต่อปี ที่อยู่ในธุรกิจเหล้าเบียร์เหล่านี้ มากระจายให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ให้ทุกคนหารส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน 

“เวลาแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร นักการเมืองที่มีทุนทรัพย์ก็หน้าใหญ่ใจบุญควักเงินไปช่วยเป็นครั้งคราว ถ่ายรูปว่าได้ช่วยแล้วสะบัดตูดหนี หรือมาตรการประกันราคาที่มีกันมาตลอด แต่สิ่งที่ยั่งยืน คือ เอามันมาเพิ่มมูลค่า จะมานั่งพูดว่ามันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำเป็นอี๋ ดิฉันว่ามันย้อนแย้ง ยิ่งมาจากพรรคการเมืองที่ส่งเสริมกัญชาเสรี ดิฉันงงว่า กัญชาส่งผลร้ายแรงกว่าสุราอีก ท่านยังไม่ด่าขนาดนี้เลย”

น.ส.รักชนก กล่าวว่า ส่วนร่างของ ครม. มีการควบคุมโฆษณาเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยมาตรา 32 เขียนไว้กว้างครอบจักรวาล เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามแสดงชื่อ ห้ามแสดงเครื่องหมายโอ้อวดสรรพคุณ ห้ามจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือ โดยอ้อม 

“หากตีความอย่างนี้ตียังไงก็เข้า ทำเดือดร้อนกันไปหมด ห้ามผู้ใดสนับสนุนงานแอลกอฮอล์แล้วงานสุราพื้นบ้าน งานเบียร์คาร์ฟของผู้ประกอบการรายย่อยไม่เสียหายตายไปหมดหรือ ห้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการสุรา เวลาจะเขียนรีวิวอะไรให้สนับสนุนให้เขาได้ลืมตาอ้าปากก็ทำไม่ได้เลย เป็นการปิดกั้นโอกาสของผู้จะเติบโตเป็นรายใหม่ในตลาด ที่ผ่านมาผู้ค้ารายใหม่แทบจะไม่มีโอกาสอยู่แล้วมาเจอร่างนี้ต้องเอามือก่ายหน้าผาก”

นอกจากนี้ ร่างของ ครม. ยังกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หากเป็นผู้ผลิต หรือ นำเข้าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หนักกว่าของเก่าที่ปรับ 5 หมื่น 

“ยังงงที่ร่างของรัฐบาลกำหนดวันเวลา แล้วยังห้ามบริโภคในสถานที่ขายสุราด้วย อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานสามารถเข้าตรวจค้นร้านเหล้าหลังเวลาทำการได้ ทุกวันนี้เรารู้อยู่แล้วว่า มีการเรียกเก็บส่วยกันกระหึ่ม ออกระเบียบแบบนี้มาเปิดช่องให้เรียกเก็บส่วยเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่ ถือเป็น ช่องโหว่อันใหญ่มาก”

ด้าน นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ โดยยืนหยัดในอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคประชาชาติ ว่า วันนี้เป็นวันที่ 16 ของเดือนรอมฏอน ซึ่งถือเป็นเดือนของการทำคุณงามความดีของชาวมุสลิมทั่วโลก แต่ในสภากลับมีการรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พรรคประชาชาติยืนหยัดว่าเราไม่เห็นด้วย 

และยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามา 5 ฉบับ เราพยายามมองในมิติรายได้ของประเทศ แต่ไม่ได้มองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ว่ามีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ตนพยายามติดตามการทำงานในฐานะ ส.ส. การออกกฎหมายต่างๆ วันนี้เรายึดโยงอยู่กับความเสรี ทุกอย่างต้องเสรี สุราต้องเสรี กัญชาต้องเสรี การพนันต้องเสรี จนกระทั่งสภาพสังคมของประเทศกำลังสู่วิกฤตมีปัญหา

นายซูการ์โน กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถรับหลักการได้ เนื่องจากตามหลักศรัทธา และหลักการของชาวมุสลิมแล้ว ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ขัดกับหลักคัมภีร์อันกุระอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตที่คนมุสลิมยึดถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด 

ได้รับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มตัวแทนเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาคใต้ตอนล่าง ที่ได้ไปเยี่ยมพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ และต่างมีข้อกังวลห่วงใยที่สภาจะรับหลักการไป

"เยาวชนมีอายุแค่ 8 ขวบ และส่วนใหญ่เป็นสตรีที่มีความเสี่ยงเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ยิ่งเราไปทำการค้าเสรีสุราเสรีต่างๆ ผมเกรงว่าข้อห่วงใย ว่าทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์เข้าสู่ครอบครัว เพราะถ้าดื่มก็จะขาดสติ และเกิดปัญหาตามมามากมาย

เช่น เมาแล้วขับ ทุกปีเรารณรงค์ถึงผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2564 ถึงแสนกว่าล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคของผู้ดื่มสุรา ทั้งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขาดงาน สูญเสียประสิทธิภาพจากการทำงาน ดังนั้น ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวอิสลาม จึงไม่สามารถรับหลัการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับนี้ได้" นายซูการ์โน ระบุ

ขณะที่ นพ.ชลน่าน รมว.สาธารณสุข กล่าวสรุปว่า รัฐบาลมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ศึกษาผลกระทบของมิติสุขภาพ และ มิติเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคำตอบว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ถ้า กมธ.วิสามัญฯ จะเอาความคิดเห็นหรือผลการศึกษามาประกอบการพิจารณา ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะกรรมการชุดนี้จะเร่งรัดศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน 

“คาดว่าหลังจากปิดสมัยสภาฯ กมธ.วิสามัญฯ ก็ทำหน้าที่ไป ก่อนที่จะสรุปร่างในเดือน ก.ค. จึงขอขอบคุณสมาชิกที่จะรับหลักการกฎหมายฉบับนี้”

จากนั้นที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติรับหลักการทั้ง 5 ฉบับ ด้วยคะแนน 389 ต่อ 9 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 42 คน