WHO เผย โควิด-19 คลี่คลายต่อเนื่อง ยกเว้นประเทศในแปซิฟิกตะวันตก

02 ส.ค. 2566 | 02:00 น.

WHO เผยสถานการณ์ล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก เริ่มคลี่คลายต่อเนื่อง ยกเว้นหลายประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก พร้อมเปิด 6 ปัจจัยหลักสนับสนุนการระบาด -เสียชีวิตจากโควิด-19 มีอะไรบ้าง ดูเลย

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคตามฤดูกาลแล้วแต่การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยังมีความสำคัญโดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด- 19 เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นหากเว้นระยะนานหลายเดือนแล้ว หรือ ฉีดวัคซีนโควิดปีละครั้ง เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ควรฉีดวัคซีนปีละครั้ง   

ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (center for Medical Genomics) ซึ่งเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า องค์อนามัยโลก แถลงสถานการณ์ล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายต่อเนื่อง ยกเว้นหลายประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก อันได้แก่

  • สิงคโปร์
  • เกาหลี
  • ออสเตรเลีย
  • นิวซีแลนด์

ปัจจัยหลักน่าจะมาจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากร (life expectancies) ที่สูงมาก

- ในระยะเวลา 28 วันที่ผ่านมา 5 ใน 6 ภูมิภาคที่องค์การอนามัยโลกกำหนดแบ่งเขตมีรายงานจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นบางประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกที่เพิ่มขึ้น

- ประเทศที่มี "ผู้ป่วยรายใหม่" มากที่สุดล่าสุด ได้แก่ เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ บราซิล

ประเทศที่มี "ผู้ป่วยรายใหม่" จากโควิด-19 มากที่สุด

- ประเทศที่มี "ผู้เสียชีวิตรายใหม่" มากที่สุดล่าสุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย รัสเซีย เปรู และ บราซิล

ประเทศที่มี "ผู้เสียชีวิตรายใหม่" จากโควิด-19 มากที่สุด

หากพิจารณาถึง 6 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการระบาดและเสียชีวิตของโควิด-19 กล่าวคือ

1.อัตราการฉีดวัคซีน

อัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคสามารถมีอิทธิพลอย่างมากต่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่และผู้เสียชีวิต หากภูมิภาคใดมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำอาจมีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย

2.มาตรการด้านสาธารณสุข

การดำเนินการ การปฏิบัติตาม และการบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในแต่ละภูมิภาค เช่น กินร้อน ช้อนกลาง การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการปิดเมือง สามารถมีผลกระทบอย่างมากต่ออัตราผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิต

3.สายพันธุ์

การเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจแพร่ระบาดหรือร้ายแรงกว่า อาจนำไปสู่การเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้

4.ความสามารถในการติดตามผู้ติดต่อสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 (close contact tracing) ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้จำนวนผู้ป่วยที่รายงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตรวจพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถระบุได้

5.ความหนาแน่นของประชากร การเคลื่อนย้าย และข้อมูลประชากร

ภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงหรือการเคลื่อนย้ายของประชากรในระดับสูงสามารถสัมผัสกับการแพร่กระจายของไวรัสได้เร็วกว่า

นอกจากนี้ภูมิภาคที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมากหรืออายุขัยที่สูงกว่าอาจพบผู้ป่วยหรือเสียชีวิตที่รุนแรงกว่า เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงสูงต่อผลลัพธ์ที่รุนแรงจากโควิด-19

6.ความสามารถของระบบการดูแลสุขภาพ

ความแข็งแกร่งและความสามารถของระบบการรักษาพยาบาลของภูมิภาคอาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากโควิด หากระบบการรักษาพยาบาลล้มเหลว อาจนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ ประเทศเกาหลี สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย มีอัตราผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าประเทศหล่านี้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอัตราผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสูงกว่าในหลายประเทศ

มีมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขในการติดเชื้อโควิด-19 ยอดเยี่ยม มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เช่นเดียวกับประเทศไทย) และมีความสามารถในการติดตามผู้ที่ติดต่อสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 (close contact tracing ) ที่มีประสิทธิภาพ มีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB ที่ไม่ต่างไปจากซีกโลกอื่น และมีระบบการรักษาพยาบาลที่แข็งแกร่ง

ดังนั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศเหล่านี้มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่และผู้เสียชีวิต สูงกว่าในหลายประเทศทั่วโลกน่าจะมีปัจจัยหลักมาจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากร (life expectancies) สูงมาก

1.สิงคโปร์

อายุขัยเฉลี่ย 86.35 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 83.65 ปีสำหรับผู้ชาย และ 89.20 ปีสำหรับผู้หญิง 

2.สาธารณรัฐเกาหลี

อายุขัยเฉลี่ย 85.03 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 81.91 ปีสำหรับผู้ชาย และ 87.97 ปีสำหรับผู้หญิง

3. ออสเตรเลีย

อายุขัยเฉลี่ย 83.8 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 81.52 ปีสำหรับผู้ชาย และ 86.21 ปีสำหรับผู้หญิง

4.นิวซีแลนด์

อายุขัยเฉลี่ย 82.21 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 80.50 ปีสำหรับผู้ชาย และ 84.00 ปีสำหรับผู้หญิง

5. ประเทศไทย

อายุขัยเฉลี่ย 75.3 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 72.4 ปีสำหรับผู้ชาย และ 78.3 ปีสำหรับผู้หญิง

6. บราซิล

อายุขัยเฉลี่ย 72.8 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 69.6 ปีสำหรับผู้ชาย และ 76.0 ปีสำหรับผู้หญิง

7.รัสเซีย

อายุขัยเฉลี่ย 72.99 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 67.62 ปีสำหรับผู้ชาย และ 78.15 ปีสำหรับผู้หญิง

8.เปรู

อายุขัยเฉลี่ย 75.5 ปีสำหรับประชากรทั้งหมด, 72.5 ปีสำหรับผู้ชาย และ 78.5 ปีสำหรับผู้หญิง

ดังนั้น จึงเป็นยืนยันว่า กลุ่มเปราะบาง 608 จึงควรรับวัคซีนครบโดส และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามเวลาที่กำหนด

สำหรับ 37 ประเทศที่อยู่ในดินแดนและพื้นที่ในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ประเทศและพื้นที่เหล่านี้แผ่กระจายไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ทุ่งหญ้าสเตปป์มองโกเลียในเอเชียกลางไปจนถึงหมู่เกาะพิตแคร์นในมหาสมุทรแปซิฟิก และทางใต้ถึงนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในภูมิภาคนี้