"อนุสรณ์" ชงมาตรการเร่งด่วน แก้มลพิษทางอากาศ เสนอรัฐบาลใหม่

02 เม.ย. 2566 | 08:58 น.

อนุสรณ์ ธรรมใจ วางมาตรการเชิงรุกเร่งด่วน 10 มาตรการ แก้มลพิษทางอากาศ พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่ ชี้หากไม่เร่งดำเนินการ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในอนาคต

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตหลายมิติ โดยเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ วิกฤตมลพิษทางอากาศ หมอกควัน และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเสนอให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด

มาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วน แก้มลพิษทางอากาศ 10 มาตรการ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ อีอีซี

มาตรการที่ 2 ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ

มาตรการที่ 3 ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม

มาตรการที่ 4 สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ บำรุงรักษาป่าต้นน้ำ

มาตรการที่ 5 ยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง

มาตรการที่ 6 ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็น ยูโร 5

มาตรการที่ 7 สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง

มาตรการที่ 8 การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลง และทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้

มาตรการที่ 9 ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

มาตรการที่ 10 จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม

"การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก” นายอนุสรณ์ กล่าว

ที่ผ่านมางานวิจัยของธนาคารโลก บ่งชี้ว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ความเสียหายจะลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกๆ ปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจนจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนเกิดสงครามยูเครนรัสเซียจากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และการใช้พลังงานสะอาด ผลกระทบจากสงครามทำให้หลายประเทศกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหิน

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยปีหนึ่งๆ รุนแรงเกินกว่า 2 เดือนจะสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ การย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้ง และโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ โดยผู้มีรายได้น้อยและคนจนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด