"ดนตรีบำบัด" ศาสตร์คลายเครียด รักษาภาวะซึมเศร้า

20 ก.พ. 2566 | 10:47 น.

เจนเนอราลี่ แนะ ใช้ "ดนตรีบำบัด" คลายความเครีดยคนเมือง เผย 3 กิจกรรมช่วยลดเครียด ก่อนเกิดภาวะซึมเศร้า ส่งผลเสียต่อสุขภพ และเป็นที่มาของการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ไว้ว่า 1 ปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น แนวโน้มของการฆ่าตัวตายในปี 65 กลับจะสูงถึง 10 เท่าจากปกติ เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพที่ต้องเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดความเครียด และหมดความหวังในการดำเนินชีวิต

 

กลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ "ความเครียด" และ "ดนตรีบำบัด" โดยมีเนื้อหาว่า

“ความเครียด” เป็นอีกหนึ่งโรคของคนเมือง ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีบำบัด เพื่อคลายความเครียดแตกต่างกันออกไป ทั้งการช้อปปิ้ง การรับประทานอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่า”ดนตรีบำบัด” ก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์แห่งเสียงที่มีความมหัศจรรย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาแล้วว่า ดนตรีนั้นสามารถกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองเพื่อมอบประโยชน์ให้แก่สุขภาพหลายประการ ซึ่งรวมถึงคลายความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า GEN HEALTHY LIFE  ได้รวบรวมทริคเกี่ยวกับ "ดนตรีบำบัด" มาให้หนุ่มสาวคนเมืองหลวงได้นำไปปรับใช้กัน

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหนุ่มสาวในสังคมมีอาการเครียด หรือภาวะซึมเศร้ากันเป็นจำนวนมากขึ้น ส่วนเด็กเล็กบางกลุ่มก็พบว่ามีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น ดังนั้นจึงมีการนำศาสตร์ดนตรีบำบัด มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำมาช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต รวมถึงการบรรเทา ลดระดับความเจ็บปวดหรือความวิตกกังวล และความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าได้ เมื่อใช้ร่วมกับการบำบัดอื่นๆ นอกจากนี้ ดนตรียังช่วยกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ของสมองให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างการจดจำที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

 

สำหรับกิจกรรมดนตรีบำบัดมีอยู่ 3 วิธีหลัก ได้แก่ 

 

  • "การเล่นดนตรีบำบัด" หรือดนตรีเพื่อคลายเครียด วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การเล่นเปียโน เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก หรือ การร้องเพลง การตีกลองหรือเครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อบำบัดความเครียด เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้และเพิ่มความผ่อนคลายในชีวิตของเรา 
  • "การสันทนาการดนตรีบำบัด" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และ สังคมให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ความจำ และสมาธิ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย และ การหายใจ อาทิ การร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ขยับร่างกายผ่อนคลายความเครียดกับการเต้นลีลาศ การเต้นแอโรบิกแดนซ์ ฝึกสมาธิ-เล่นโยคะ โดยใช้ดนตรีเข้ามามีส่วนร่วม 

 

  • “การฟังดนตรีเพื่อบำบัด” แก่นแท้ของการฟังดนตรีเพื่อบำบัดความเครียด หรือ พัฒนาการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องเลือกฟังเฉพาะดนตรีคลาสสิค หรือ เสียงธรรมชาติเท่านั้น เพราะเสียงดนตรีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น ฮิพฮอพ แร๊ป ร็อค ก็สามารถผ่อนคลายอารมณ์เราได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล ว่ามีอารมณ์ร่วมไปกับดนตรีประเภทไหน 

 

หากรู้สึกเหนื่อยล้า หรือ เครียดจากเรื่องราวรอบตัว ควรให้เวลาตัวเองพักผ่อนสัก 15-20 นาที แล้วเปิดเพลงโปรดฟังเพื่อปลอบประโลมจิตใจ ปล่อยความรู้สึกที่มีภายในใจให้ได้รับการผ่อนคลายอย่างเต็มที่

 
ต้องยอมรับเลยว่าการใช้ชีวิตในสังคมที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราตามไม่ทัน ประจวบกับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลที่เข้ามาเขย่าจิตใจเราทำให้ไม่สามารถมีความสุขได้ “ดนตรีบำบัด” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางจิตใจให้กับเรา