“ขมิ้นชัน” สมุนไพรหมื่นล้าน รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร

07 ก.พ. 2566 | 07:53 น.

กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผลักดัน “ขมิ้นชัน” สมุนไพรพื้นบ้านมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เป็นทางออกการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร ตามภูมิปัญญาไทย

ขมิ้นชัน” สมุนไพรพื้นบ้านของไทย ล่าสุดมีผลงานวิจัยพบว่า สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ผลักดันให้ขมิ้นชัน เป็นสุดยอดสมุนไพรไทย มีคุณสมบัติโดดเด่น  ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินอาหารที่ประชาชนเป็นกันมากในปัจจุบัน เช่น โรคกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า สมุนไพร “ขมิ้นชัน” ถือเป็นสมุนไพรแชมเปี้ยน (Herbal champions) แถวหน้า ขนาดตลาดระดับโลกกว่าหมื่นล้านบาท แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชันลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.8 ของตลาดส่งออกทั้งหมด โดยขมิ้นชันส่งออกของไทยยังมีราคาเฉลี่ยต่อตันสูงกว่าราคาตลาดโลก นอกจากขมิ้นชันจะเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมทั่วโลกแล้ว ยังเป็นสมุนไพรท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการยอมรับและใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านอีกด้วย

 

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

วิจัยต่อยอด “ขมิ้นชัน”

สำหรับ สรรพคุณขมิ้นชัน ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ บรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่ง กรมการแพทย์แผนไทยฯ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของขมิ้นชันที่มากกว่าการบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการรักษาโรคกระเพาะแปรปรวน (Functional Dyspepsia)

โดย เป็นการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคกระเพาะแปรปรวนจำนวนกว่า 200 คน โดยใช้ขมิ้นชันในขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ให้ผลในการรักษาโรคกระเพาะแปรปรวนได้ ไม่ต่างจากการใช้ยา omeprazole ในขนาดมาตรฐาน และไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการรับประทานขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง

 

“ขมิ้นชัน” สมุนไพรพื้นบ้านของไทย

ข้อควรระวังการใช้ “ขมิ้นชัน”

ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ สมุนไพร “ขมิ้นชัน” มีข้อควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขมิ้นชันสามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำดีได้และหากผู้ทานมีนิ่วในถุงน้ำดีอยู่ นิ่วอาจจะไปอุดทางออกของน้ำดี ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบได้ 

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า สามารถใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่นั้น สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด อาจจะเสริมฤทธิ์กัน รวมทั้งควรระวังการใช้ยาร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิดด้วย เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin 

สำหรับขนาดที่เหมาะสมในการรับประทานตามคำแนะนำในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือทานครั้งละ 2 – 4 แคปซูล (มีผงขมิ้นชัน 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน