เปิดข้อมูลกลไกลที่ทำให้เกิดอาการ "ลองโควิด" ล่าสุดยังไม่มีวิธีรักษา

14 ม.ค. 2566 | 01:35 น.

เปิดข้อมูลกลไกลที่ทำให้เกิดอาการ "ลองโควิด" ล่าสุดยังไม่มีวิธีรักษา หมอธีระแนะดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต

Long Covid (ลองโควิด) เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อแล้วแม้เชื้อจะหายไปจากร่างกายและไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 

แต่อาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายภายหลังนับว่าเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า

กลไกที่ทำให้เกิด Long COVID:

ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเกิดได้จากหลายกลไก ได้แก่ 

  • การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยอาจมีการกระตุ้นให้ไวรัสบางชนิดที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่มีการกำเริบขึ้น เช่น ไวรัสตระกูล herpervirus (EBV, HHV-6)
  • การเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในร่างกายจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานของระบบต่างๆ
  • การกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และการเกิดความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือด
  • ความผิดปกติของการสื่อกระแสประสาท

เปิดข้อมูลกลไกลที่ทำให้เกิดอาการลองโควิด

ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 :

ปัจจุบันหลักฐานวิชาการแพทย์ทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่า การติดเชื้อนั้น ไม่ว่าจะติดครั้งแรก หรือติดซ้ำ 

จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เสียชีวิต รวมถึงความผิดปกติแบบ Long COVID ต่างๆ ตามมาได้ในหลากหลายระบบของร่างกายภายหลังจากผ่านพ้นการติดเชื้อระยะแรกมาแล้ว 

ณ วินาทีนี้้ ยังไม่มีวิธีรักษา Long COVID ที่จำเพาะเจาะจง มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐาน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลตนเอง ไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนดจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ลงมาได้บ้าง

เหนืออื่นใด สำคัญที่สุดคือ การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน พบปะผู้คน และเดินทางท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก