เดลตาครอน XBC : โจมตีปอดเท่าเดลตา แพร่เร็วเท่าโอมิครอน ศูนย์จีโนมฯ เร่งเตือน

14 พ.ย. 2565 | 09:59 น.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามา เตือนเฝ้าระวัง "เดลตาครอน XBC" โจมตีปอดเท่าเดลตา และสามารถแพร่ได้เร็วเหมือนโอมิครอน ประเทศรอบไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ผ่านเพจ Center for Medical Genomics เตือนให้ระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความรุนแรงในการโจมตีปอดเท่าเดลตา และสามารถแพร่ได้เร็วเหมือนโอมิครอน

 

ยังวางใจไม่ได้ สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังคงพบการแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก โดยล่าสุด เพจ Center for Medical Genomics ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เตือนให้เฝ้าระวัง เชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์ใหม่ เดลตาครอน XBC ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2”

 

โดยโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ พบระบาดในฟิลิปปินส์แล้วมากกว่า 193 ราย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตามอง เพราะนับตั้งแต่ โอมิครอนกำลังอ่อนกำลังลง แต่กลับเหมือน 'เดลทาครอน' หลายสายพันธุ์กำลังระบาดขึ้นมาแทนที่ เช่น XBC, XAY, XBA และ XAW  โดยเฉพาะเดลทาครอน “XBC” มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิด19 สายพันธ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากที่สุดถึงกว่า “130” ตำแหน่ง

จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของ "เดลทาครอน" พอจะประเมินได้ว่าเป็นไวรัสโควิดที่มีศักยภาพในการโจมตีปอดอย่าง “เดลตา” และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือน “โอไมครอน” 

 

นักวิทยาศาสตร์ ประเมิณสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด(worst-case scenario) ไว้ว่า ลูกผสมเดลต้า-โอไมครอนอาจมีอันตรายพอๆ กับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตถึง 3.4% สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอไมครอนเกือบสองเท่า ตามผลการศึกษาในปี 2565 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Immunology และ อาจมีความสามารถในการแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว
เช่นเดียวกับโอมิครอน

 

ทั้งนี้ การทำนายความรุนแรงของสายพันธุ์ลูกผสม หรือสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เป็นเรื่องยาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่า เหตุใดโอมิครอนจึงดูเหมือนจะก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเดลตา ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมโควิด-19 จึงเปลี่ยนจาก “โรคทางเดินหายใจส่วนล่าง” ในช่วง 2 ปีแรกที่เดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้าระบาด มาเป็น “โรคทางเดินหายใจส่วนบน” ที่มีความรุนแรงลดลงในปีที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือไปจากโปรตีนหนามซึ่งไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์ของมนุษย์และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน 

 

สำหรับประเทศไทย จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “กิสเสด (GISAID)”ยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสม “XBB” และ “XBC” แม้ว่าจะพบผู้ติดเชื้อ สายพันธุ์  XBB และ XBC ในหลายประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย เช่น ฟิลิปปินส์ , สิงคโปร์ , มาเลเซีย , อินโดนิเชีย , บรูไน , กัมพูชา ก็ตาม