สถิติน่ารู้ “โควิดโลก” หลังยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 628 ล้านราย ตายกว่า 6.5 ล้าน

14 ต.ค. 2565 | 07:05 น.

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นเพียง "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" สำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา (จากเดิมเป็นโรคติดต่ออันตราย) แต่ก็ยังคงเป็นโรคระบาดที่มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 628 ล้านคนทั่วโลก ต่อไปนี้เป็น "สถิติน่ารู้" เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดโลก  

Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุวานนี้ (13 ต.ค.) ว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 628,556,214 ราย ขณะที่ ผู้เสียชีวิตสะสม อยู่ที่ระดับ 6,566,411 ราย

 

นอกจากนี้ ยังมี สถิติน่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19 รอบโลก (ข้อมูล ณ 13 ต.ค.)  ดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (98,727,136) รองลงมาคืออินเดีย (44,621,319)
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 36 ล้านราย ได้แก่ ฝรั่งเศส
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 34 ล้านราย ได้แก่ บราซิล เยอรมนี
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 25 ล้านราย ได้แก่ เกาหลีใต้
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 23 ล้านราย ได้แก่ สหราชอาณาจักร
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 22 ล้านราย ได้แก่ อิตาลี
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 21 ล้านราย ได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 16 ล้านราย ได้แก่ ตุรกี
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 13 ล้านราย ได้แก่ สเปน
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 11 ล้านราย ได้แก่ เวียดนาม
  • ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ล้านราย ได้แก่ ออสเตรเลีย
  • นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศที่มีจำนวน ผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงที่สุดในโลก (1,089,385 ราย) ตามมาด้วยบราซิล (687,076) และอินเดีย (528,847)

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศคลี่คลายลงหลังจากที่ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา

  • กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับลดมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดจาก ‘โรคติดต่ออันตราย’ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดอยู่ในระดับสูง
  • ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้มา 2 ปีครึ่ง
  • และยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ตามไปด้วย