รพ.ศิริราช เดินหน้าสู่ "Smart Hospital"

10 ต.ค. 2565 | 08:18 น.

ศิริราช เดินหน้าสู่การเป็นต้นแบบ "Smart Hospital" ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการกับผู้ป่วย เพิ่มการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์ใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพในการทำงานของบุคลากรให้สมาร์ทขึ้น

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรงพยาบาลศิริราชวางแนวทางการต่อยอดและเป้าหมายสูงสุดของการเป็นต้นแบบของ Smart Hospital โดยมุ่งหวังที่จะดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพที่สุดและเกิดปัญหาน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการรักษาพยาบาล การรอคอย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพิ่มความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ ที่สำคัญคือลดค่าใช้จ่ายในการมาหาหมอ นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

 

“ศิริราชปูพื้นฐานและพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ เริ่มจากแอปพลิเคชัน Siriraj Connect แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ สามารถแจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ แจ้งเตือนคิวตรวจแบบเรียลไทม์ เช็คคิวเจาะเลือดและรับยา และชำระเงินได้จากแอปพลิเคชันเดียว รวมถึงการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) กับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาลด้วย "

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนั้นแล้วยังร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ

 

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเป็น Smart Hospital นอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งสำคัญคือบุคลากรต้องมีความเข้าใจในนวัตกรรม มีทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งศิริราชมีความพร้อมทั้งระบบการศึกษา อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจัดพื้นที่ที่เรียกว่า “Smart Digital Hub” ให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รวมถึงบุคลการของศิริราช ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรม 

 

สำหรับ“Siriraj Smart Hospital" ในระยะแรกมีต้นแบบประมาณ 9 เรื่องพื้นฐาน และกำลังจะขยับไปในระยะที่ 2 ที่มี Siriraj Data Plus เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบโรงพยาบาลทั้งหมด สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับความสามารถของ AI เข้ามาดีไซน์จุดที่ต้องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล การเงิน การคลัง พัสดุทรัพย์สินโรงพยาบาล เป็นการบริหารจัดการที่นำข้อมูลดิบมาจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดขั้นตอน เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ในอนาคต

 

“สิ่งที่อยากทำคือการเสริมศักยภาพ สร้างนวัตกรรมในการดูแลรักษาพยาบาล และสมานความเป็นต้นแบบในระดับนานาชาติเพื่อให้คนไทยมีความสุขและให้ชาวศิริราชทุกคนมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่เช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำให้ได้ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า”


 

ด้าน ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ศิริราชมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ด้วยสรรพกำลังที่มีความพร้อม และจะเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบในรูปแบบการรักษาพยาบาล โดยใช้คำว่า Smart เป็นหลักคิด

 

"โจทย์ของศิริราชคือ ความแออัด การเข้าไม่ถึงบริการ ตั้งต้นจากข้อมูลของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศิริราช เฉลี่ยปีละ 3 ล้านครั้ง และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ปีละ 1% เนื่องจากโรงพยาบาลมีความแออัด โดยพบว่าผู้ป่วยหนึ่งรายจะมารับบริการที่ศิริราชเฉลี่ยคนละ 5 ครั้งต่อปี ขณะที่บางรายมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เป็นความไม่สมดุลของการรับบริการและการให้บริการ"

 

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการทำโครงการ  Smart Hospital โดยนำเทคโนโลยีมาออกแบบระบบการให้บริการเพื่อลดปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แก้ปัญหาโดยใช้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม ในสถานที่เหมาะสม ในราคาที่คุ้มค่าเหมาะสม และทำให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด

 

สำหรับการทำ Smart Hospital อย่างแรกต้องทำให้เกิดการเข้าถึงที่ดีขึ้น (Smart Access) ในที่นี้หมายถึงเข้าถึงเมื่อจำเป็นต้องเข้าถึงได้ สองระบบการรับบริการที่ราบรื่น ไม่ต้องรอ หรือรอคอยน้อยที่สุด (Smart Operation) สามข้อมูลต้องทั่วถึงทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ (Smart Information) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรักษาพยาบาลหรือข้อมูลเรื่องของโรคต่างๆ เรื่องถัดมาคือคนของศิริราชก็ต้องสมาร์ท (Smart People) บุคลากรในศิริริราชต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเป็นและต่อยอดข้อมูลได้

 

“เราคลี่กระบวนการของคนไข้ ตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล ระหว่างมารับบริการ และหลังรับการรักษา เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับเพื่อลดขั้นตอน ลดเวลา ลดข้อผิดพลาด และให้การรักษาที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้เกิดสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ รวมทั้งสามารถติดตามอาการของคนไข้ได้ต่อเนื่อง เราจึงเข้าโครงการ 5G ของรัฐบาลเพื่อสร้างต้นแบบในการทำ Smart Hospital ให้เป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรจากหลากหลายสาขา ทั้งเทคโนโลยี วิศวกรรม การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ไอที รวมถึงสตาร์ตอัพ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงขยายผลไปสู่พันธมิตรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้” 

 

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช


ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร กล่าวว่า โรงพยาบาลอัจฉริยะนั้น หมายถึงการออกแบบการให้บริการด้วยการใช้ Disruptive เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการ ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์ใหม่ในการมารับบริการ ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มความสะดวกและผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรชาวศิริราช เรียกว่าทำน้อยแต่ได้มาก

 

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร

สำหรับความคืบหน้าโครงการ “Siriraj Smart Hospital” ใน 9 โครงการย่อย ที่ดำเนินงานไปแล้วเกือบ 100% ในหลายโครงการ อาทิ Smart EMS  (Emergency Medicine Service)  เปลี่ยนรถพยาบาลธรรมดาให้เป็น Smart Ambulance โดยภายในตัวรถจะมีระบบอัจฉริยะต่างๆ อาทิ ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้แพทย์รักษาได้รวดเร็ว ซึ่งในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา ให้บริการคนไข้ไปแล้วกว่า 400 ราย ลดระยะเวลาที่แพทย์รักษาคนไข้จากเดิมเฉลี่ย 40 นาที เหลือเพียง 20 นาที 

 

ต่อมาคือ Smart Emergency Room ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ มีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คอยช่วย ประเมินสัญญาณชีพคนไข้ที่ผิดปกติ ทำให้พยาบาลจัดลำดับการดูแล ติดตามคิวผู้ป่วย และให้การรักษาอย่างทันท่วงที ที่สำคัญญาติสามารถติดตามการรักษาได้จากที่บ้าน 

 

โครงการถัดมาคือระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Pathological diagnosis system) เริ่มต้นในโครงการมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยจะใช้ AI เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการอ่านผลวินิจฉัยการตรวจชิ้นเนื้อเบื้องต้น ทำให้แพทย์สามารถอ่านชิ้นเนื้อได้รวดเร็วแม่นยำ ซึ่งในอนาคตจะสามารถรองรับการอ่านชิ้นเนื้อให้กับโรงพยาบาลที่ห่างไกลและไม่มีพยาธิแพทย์ ช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการชั้นสูงในพื้นที่ห่างไกลได้

 

นอกจากนี้ ยังมีระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (5G AI Platform for NCD) ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Healthy Buddy’ ช่วยผู้ป่วยเบาหวานให้บริโภคอาหารได้สัดส่วน บันทึกข้อมูลอาหารและระบุแคลอรี่ด้วยภาพถ่าย มีระบบเตือนให้กินยา บันทึกผลวัดความดันและน้ำตาล เป็นต้น

 

ศิริราช ยังนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยบริหารจัดการระบบภายในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นระบบขนส่ง ยาและเวชภัณฑ์ด้วยรถไร้คนขับ (Smart Logistic with 5G Self-Driving car) เพื่อเพิ่มผลิตภาพในระบบการขนส่งและลดต้นทุนได้ในระยะยาว รวมทั้ง Smart Inventory Management ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์พยากรณ์ปริมาณการใช้และการจัดการยาและเวชภัณฑ์ในแต่ละสัปดาห์ 

 

สุดท้ายคือ ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Permission based block chain for personal health record) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษา นำร่องที่ 3 โรงพยาบาล คือ รพ.ศิริราช, ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และคาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายไปใช้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้

 

รพ.ศิริราช เดินหน้าสู่ "Smart Hospital"