ด่วน ไฟเขียวยุบ ศบค. หลังเคาะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผล 1 ต.ค.นี้

23 ก.ย. 2565 | 05:33 น.

ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะไม่ต่ออายุ หลังจากกฎหมายจะสิ้นสุดระยะเวลาวันที่ 30 กันยายน 2565 และยุบเลิก ศบค. โดยการยุบจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ วันนี้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทำให้ต้องยุบเลิก ศบค. 

 

ทั้งนี้ในการหารือของ ศบค. วันนี้ ได้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องต่ออายุ เพราะตามกฎหมายจะสิ้นสุดระยะเวลาวันที่ 30 กันยายน 2565 ดังนั้นเมื่อไม่มีการต่ออายุ จึงต้องยุบเลิก ศบค. ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้าย โดยการยุบจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

“ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเห็นว่าไม่มีความจำเป็นก็ไม่มีการเสนอครม.เหมือนที่ผ่านมาว่าจะต่ออายุ ดังนั้นกฎหมายจึงต้องสิ้นสุดลงไป”

 

ส่วนกลไกการดำเนินต่อจากนี้ จะอยู่ภายใต้การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับใหม่ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

โดยเชื่อว่า กลไกดังกล่าวจะสามารถดูแลและรองรับสถานการณ์การติดเชื้อได้ ขณะที่แผนต่าง ๆ ก็มีรองรับไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะมีสถานการณระบาดเป็นสีเหลือง หรือเป็นสีเขียว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จาก ศปก.ศบค. ซึ่งพบว่าการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลง ประชาชน และผู้ประกอบการสามารพใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เข้าสู่ภาวะปกติ 

 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และให้มีการจัดทำกรอบนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติของภาครัฐ เอกชน ประชาชน ภายหลังโควิด-19 ได้ปรับสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการต่อเนื่องมาในระยะหนึ่งแล้ว

 

“ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 และการขยายระยะเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในคราวที่ 19 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และครม.ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป”

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.