ราชกิจจาฯประกาศโควิดพ้นจากโรคติดต่ออันตราย จะเปลี่ยนแปลงยังไง เช็คเลย

22 ก.ย. 2565 | 00:11 น.

ราชกิจจาฯประกาศโควิดพ้นจากโรคติดต่ออันตราย จะเปลี่ยนแปลงยังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อจากจุดสูงสุด

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้โควิดพ้นจากโรคติดต่ออันตราย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในชีวิตประจำวันของประชาชน

 

นับจากที่ประเทศไทยพบโควิดรายแรกในวันที่ 8 มกราคม 2563

 

และติดตามมาด้วยการประกาศขององค์การอนามัยโลก ให้โควิดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโลก

 

และในที่สุดประเทศ ไทยก็ได้ประกาศให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น

 

เมื่อเข้าสู่ปีพ.ศ. 2565 โควิดระลอกโอมิครอน ก็ได้ทยอยพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเป็นลำดับ

 

จนสู่จุดสูงสุดหรือพีคเมื่อเดือนเมษายน 2565 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ

 

  • แบบพีซีอาร์ 27,071 รายต่อวัน
  • แบบเอทีเค 49,494 รายต่อวัน
  • รักษาตัวอยู่ในรพ. 67,795 เตียง
  • และเสียชีวิต 129 รายต่อวัน

จนกระทั่งวันนี้ (21 กันยายน 2565) สถิติต่างๆได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้แก่

 

  • ผู้ติดเชื้อแบบพีซีอาร์เหลือ 1129 ราย
  • แบบเอทีเค 13,709 ราย
  • รักษาตัวอยู่ในรพ. 5721 เตียง
  • และเสียชีวิต 13 ราย

 

ด้วยแนวโน้มสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ปรับโควิด-19 พ้นจากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 57 (โรคในกลุ่มนี้อาทิเช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก วัณโรค หัด หัดเยอรมัน คางทูม โรคเอดส์ เป็นต้น)

 

ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยประกาศได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565

 

ทำให้มีประชาชนให้ความสนใจกันมากว่า การเปลี่ยนแปลงโรคโควิดดังกล่าวนั้น จะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ต่อการดูแลรักษาตัวอย่างไรบ้าง

 

ราชกิจจาฯประกาศโควิดพ้นจากโรคติดต่อันตราย

 

บทความนี้จะมาสรุปโดยย่อ เพื่อให้เข้าใจเรื่องดังกล่าว

 

1.พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีคณะกรรมการดูแลเกี่ยวกับโรคติดต่อ 3 ชุด ได้แก่

 

  • คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
  • คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
  • คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

2.มีการกำหนดโรคติดต่อไว้เป็น 2 ความรุนแรงหรือ 2 ระดับ ได้แก่

 

  • โรคติดต่ออันตราย คือโรคติดต่อที่มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวาง และทำให้มีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้มาก
  • โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง คือโรคติดต่อซึ่งมีการแพร่ระบาดและความรุนแรงน้อยกว่า แต่สมควรมีการติดตาม ตรวจสอบ และจัดเก็บข้อมูลไว้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค

 

3.ในกรณีโรคติดต่ออันตราย ทางเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบจะต้องรายงานผู้ติดเชื้อภายใน 3 ชั่วโมง ไปที่กรมควบคุมโรค และต้องทำการแยกกักตัวผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ทำการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และทำการควบคุมผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เพื่อการควบคุมโรค

 

4.โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ให้เจ้าพนักงานรายงานไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสัปดาห์ละครั้ง และผ่อนคลายมาตรการแยกกัก กักกัน และควบคุมลง

 

5.ในส่วนของประชาชนทั่วไป เมื่อมีการติดเชื้อไม่ว่าจะรักษาเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน ก็จะยังคงได้รับการดูแลตามสิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่เดิม โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  • กลุ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
  • กลุ่มประกันสังคม
  • กลุ่มบัตรทองหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่โควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย ในช่วงแรกนั้นระบบสุขภาพของไทยได้เอื้อความสะดวกให้กับประชาชนทุกคน สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานพยาบาลต้นสังกัดเท่านั้น และไปไกลถึงขั้นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกรณีกักตัวที่โรงแรม หรือแยกกักตัวที่บ้านด้วย

 

6.หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เมื่อโควิดไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว  ก็จะทำให้บรรยากาศความรู้สึก ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการใช้ชีวิตในสังคม มีการผ่อนคลายมากขึ้น

 

7.แต่ขณะเดียวกัน เรายังพบผู้ติดเชื้อแบบเอทีเควันละ 10,000 รายเศษ และผู้เสียชีวิตในระดับวันละ 10 ราย จึงสมควรที่จะต้องมีวินัยในการใส่หน้ากากต่อไป รวมทั้งการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า

 

การมีวินัยดังกล่าว อาจจะต้องเข้มงวดขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อคนมีความรู้สึกว่าโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแล้ว ก็อาจจะมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้ตรวจ หรือตรวจแล้วไม่มีอาการ ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับเชื้อไวรัสง่ายขึ้น