รู้จัก โรคความดันโลหิตสูง หลัง “วิทยา บุรณศิริ” เสียชีวิต

15 ก.ย. 2565 | 06:16 น.

รู้จัก โรคความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม หลัง “วิทยา บุรณศิริ” เสียชีวิต ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโาคนี้

กรณี นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสียชีวิตอย่างสงบ ด้วยอายุ 62 ปี หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ด้วยอาการวูบ หมดสติ โดยก่อนหน้านี้ นายวิทยา ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับ โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจ ส่งผลทำให้เกิดโรคร้ายตามมา ไม่ว่าจะเป็น

  • ภาวะหัวใจวาย
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

ซึ่งความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูงคือ เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ และจะเป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรงถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดตามมา

ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

  • โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะแรงกดดันในหลอดเลือดแดงที่มีค่าสูงเกินปกติ (140/90 มิลลิเมตรปรอท)

 

  • ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัวและถ้าไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ ดังนั้นถ้าป้องกันความดันโลหิตสูง ก็สามารถป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจได้

 

  • ความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือน ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระยะรุนแรงก็อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจได้สั้นลง เลือดกำเดาไหล

 

  • นอกจากโรคความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น หากเป็นโรคเบาหวาน โรคคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคอ้วน ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

 

  • ป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วยการ ลดกินเกลือ (โซเดียม) เพิ่มการรับประทานผักผลไม้(รสหวานน้อย) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยลง งดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่

 

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสความดันโลหิตสูง 

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง 
  • ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุทั้งชาย และหญิงที่มีอายุตั้ง 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ยังมีอายุน้อย
  • น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน พบภาวะความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนปกติ และหากลดน้ำหนักลง 3-5% ขึ้นไป ก็จะทำให้ลดความดันโลหิตได้ส่วนหนึ่ง
  • สูบบุหรี่จัด เพิ่มโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง ระดับความเครียดที่สูงสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงแบบชั่วคราวได้ 
  • มีโรคประจำตัว โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไต เบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง มักพบโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยได้บ่อย

 

ระดับความดันโลหิตเท่าไรเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง

สามารถเช็คว่าเป็นความดันโลหิตสูงด้วยวิธีการวัดความดันโลหิต หากมีค่าความดันซิสโตลี (ค่าความดันตัวบน) มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (mm/Hg) หรือ ค่าความดันไดแอสโตลี (ค่าความดันตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 (mm/Hg) โดยวัดในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะพัก นั่นหมายถึงคุณกำลังมีอาการของโรคความดันโลหิตสูง 

 

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์ , โรงพยาบาลสินเเพทย์เสรีรักษ์