อนุกรรมธิการ สธ. ชงรัฐงดจับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า

10 ก.ย. 2565 | 12:06 น.

อนุกรรมธิการ สธ. เสนองดจับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เร่งทำหนังสือถึงผบ.ตร.-อัยการสูงสุด ขอแนวทางการปฏิบัติในทางเดียวกัน หนุนแก้ประกาศกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ศุลกากร และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.สเชียงราย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านสาธารณสุข ได้จัดประชุม เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาการบังคับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

 

โดยเชิญผู้แทนจากอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมหารือ หลังจากกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรณีผู้มีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองถูกตรวจค้นและจับกุมเป็นจำนวนมาก 

 

จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเข้าชี้แจงถึงแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เพราะมีการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสับสนของเจ้าหน้าที่หน้างานที่ปฏิบัติต่อประชาชนนำมาสู่การจับกุมดำเนินคดีโดยมิชอบ  

ด้านผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลต่ออนุกรรมธิการฯ ว่า กฎหมายที่ใช้จับกุมผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับเดิม โดยมาตรา 246 ได้ตัดคำว่า "ของต้องห้าม" ออกไป 

 

ดังนั้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าได้ เมื่อได้ประเด็นดังนี้ จึงมีการเสนอต่อกรรมาธิการการสาธารณสุข ให้มีความเห็นส่งต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักอัยการสูงสุดว่า เห็นด้วยตามความคิดเห็นในที่ประชุมของกรรมาธิการหรือไม่

 

เพื่อส่งหนังสือเวียนให้เป็นหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เดียวกันทั่วทั้งประเทศ และเพื่อไม่ให้ประชาชนที่ครอบครองบริเวณไฟฟ้าที่ไม่ใช่ผู้ขายจะได้ไม่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีอีกต่อไป

ส่วนการห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผิดในส่วนของคนที่จำหน่ายสินค้าที่ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่ได้รับการเสียภาษีตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถจับกลุ่มได้ ดังนั้นจึงต้องทบทวนกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ ศุลกากร และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นพ.เอกภพ กล่าวว่า ทางอนุกรรมาธิการได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยถือเป็นประเด็นที่ประชาชนน่าจะได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องของจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ได้ลดลงจากการขึ้นภาษีบุหรี่ แถมยังได้ข้อมูลจากทางกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรว่า บุหรี่ปลอมและหนีภาษีมีจำนวนมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษมาให้ข้อมูลถึงแนวทางของบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นทางเลือกในการเลิกบุหรี่มวน ทางผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขอังกฤษมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และในการศึกษายังพบว่าเป็นตัวที่ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่มวนลดลง 

 

สำหรับประเทศอังกฤษมองผู้ติดบุหรี่เป็นผู้ป่วยที่ติดสารนิโคตินไม่ใช่มองเป็นผู้ติดบุหรี่ นอกจากนี้นี้ยังมีในหลายประเทศที่หาแนวทางในการศึกษาและทำตามเช่นกัน ดังนั้นในประเทศไทยเรา จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือในเรื่องนี้ต่อไป