“ส้วมเฉพาะกิจ” 3 รูปแบบ สำหรับผู้ประสบภัย “น้ำท่วม” รู้จักไว้ ใช้ได้จริง

31 ส.ค. 2565 | 05:40 น.

'ทุกข์' ของผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ถือเป็นความทุกข์อันดับต้นๆ โดยเฉพาะกรณีน้ำท่วมขังระดับสูง กินเวลายาวนาน ก็คือปัญหาการใช้ห้องน้ำ-ห้องสุขา ที่เมื่อถูกน้ำท่วมแล้วก็ใช้การไม่ได้ "กรมอนามัย" กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เสนอไอเดีย "ส้วมเฉพาะกิจ" 3 รูปแบบ สามารถทำ DIY ใช้เอง

ไอเดียทางออกเรื่อง ห้องน้ำ-ห้องส้วม สำหรับ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยขณะนี้ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น มีหลายจังหวัดกลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังจะเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งและ น้ำท่วม ท่ามกลางภาวะดังกล่าวซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยยังต้องลำบากกับหลายปัญหาที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องของ “สุขา” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ส้วม” เมื่อเกิดน้ำท่วมระดับสูง ก็ใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

 

โจทย์ปัญหาที่เป็นทั้งทุกข์หนักและทุกข์เบาของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สร้างสรรค์ข้อเสนอทางออกในรูป “ส้วมเฉพาะกิจ” ที่จัดมานำเสนอ 3 รูปแบบด้วยกัน เป็น 3 ทางเลือกที่ไม่เพียงประหยัดงบ ต้นทุนน้อย แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีและถูกสุขอนามัย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ห้องน้ำแบบปกติไม่ได้เพราะถูกน้ำท่วม

น้ำท่วมสูงจะใช้ห้องน้ำ-ห้องส้วมอย่างไร

เรามาดูกันว่า “ส้วม”เฉพาะกิจที่จะสร้างสุข(า) 3 แบบที่ว่า เป็นอย่างไร และเหมาะกับสถานการณ์แบบไหน มาดูพร้อม ๆกัน

รูปแบบที่ 1) ส้วมเก้าอี้พลาสติก

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • เก้าอี้พลาสติก
  • มีด คัตเตอร์ หรือเลื่อยสำหรับเจาะพื้นรองนั่งเก้าอี้ และกรรไกรสำหรับตัดกระดาษแข็ง
  • ถุงดำ หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่

เจาะช่องตรงกลางที่พื้นรองนั่งของเก้าอี้พลาสติกเป็นวงรี กว้างประมาณ 12 - 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นตัดกระดาษแข็งให้เป็นรูปที่นั่ง แล้วเจาะกระดาษให้มีช่องวงรีตรงกลางขนาดเท่ากับวงรีบนพื้นรองนั่งของเก้าอี้ที่เจาะไว้  แล้วจึงนำถุงพลาสติกหรือถุงดำสวมลงไปในช่องวงรี โดยเปิดปากถุงคลุมเก้าอี้เอาไว้

 

เวลาใช้ก็เพียงนั่งลงบนเก้าอี้แล้วถ่ายทุกข์ รูปแบบนี้เหมาะกับผู้สูงวัย ผู้มีน้ำหนักตัวมาก หรือผู้ที่มีปัญหาเข่า เวลาใช้เสร็จก็มัดถุงให้เรียบร้อย นำไปทิ้งอย่างเหมาะสม

 

รูปแบบที่ 2) ส้วมถังพลาสติกหรือกระโถน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • ถังพลาสติก หรือกระโถน แบบมีฝาปิด
  • ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือถุงดำ

นำถังพลาสติกหรือกระโถนเปิดฝาออก แล้วจึงนำถุงพลาสติกใส่ลงในถังหรือกระโถน คลี่ปากถุงครอบบนปากถัง หรือปากกระโถน เวลาใช้ก็เพียงนั่งลงคร่อมปากถัง ถ่ายทุกข์หนักเบาได้ จะให้ดีควรปิดฝาถังทุกครั้งที่ใช้

 

รูปแบบนี้ควรเลือกถังพลาสติกเนื้อหนา รองรับน้ำหนักได้ ก่อนจะนั่งลงควรคะเนน้ำหนักตัวเองให้ดีว่าถังพลาสติกสามารถรองรับได้หรือไม่  

ส้วมเฉพาะกิจ 3 รูปแบบ โดยกรมอนามัย

 

รูปแบบที่ 3) ส้วมกล่องกระดาษ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • กล่องกระดาษ เอ4 แบบมีฝาปิด
  • มีดคัตเตอร์ หรือกรรไกร สำหรับเจาะกล่องกระดาษ
  • เทปกาว
  • ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือถุงดำ

 

ใช้กล่องกระดาษ เอ 4 พร้อมมีฝาปิด (กล่องแบบนี้หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงาน) นำมาเจาะช่องที่ฝากล่อง ความกว้างประมาณ 12 - 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นคว่ำปากกล่องกระดาษลง นำฝากล่องที่เจาะเป็นช่องแล้ว ครอบปิดลงบนก้นกล่องกระดาษ แล้วเจาะก้นกล่องกระดาษเป็นช่องให้ตรงกันกับฝากล่อง นำเทปกาวติดฝากับตัวกล่องกระดาษให้แน่น ใช้ถุงดำใส่ลงในกล่อง คลี่ปากถุงครอบบนปากกล่อง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

 

ทั้งนี้ หลังขับถ่ายลงในถุงดำทุกครั้ง ให้ใช้ปูนขาวหรือขี้เถ้า 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ในถุงอุจจาระ เพื่อทำลายเชื้อโรค จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วรวบรวมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข