ไทม์ไลน์ หญิงไทยป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 6 กลับจากประเทศกาตาร์

27 ส.ค. 2565 | 00:00 น.

เปิดไทม์ไลน์ หญิงไทยป่วย "โรคฝีดาษลิง" รายที่ 6 เป็นพนักงานนวดแผนไทย เดินทางกลับมาจากประเทศกาตาร์ ระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่น

เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร ล่าสุด นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันโรคฝีดาษวานร เป็นเพศหญิง อายุ 21 ปี สัญชาติไทย ไปประกอบอาชีพพนักงานนวดแผนไทยที่ประเทศกาตาร์

 

สำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศ ขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการผื่น เพียงเล็กน้อย และอยู่ในร่มผ้า โดยระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่น ๆ ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นเพศหญิง รายที่ 3 

 

วันที่ 10 ส.ค. 65

  • เริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  

วันที่ 21 ส.ค. 65

  • เดินทางกลับมาประเทศไทย และเดินทางกลับบ้านที่ จ.มหาสารคาม  

วันที่ 22 ส.ค. 65

  • เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย พบว่า มีตุ่มน้ำใส และอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ

วันที่ 24 ส.ค. 65

  • ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโรคฝีดาษวานร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ทั้งนี้ จากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด พบผู้สัมผัสจำนวน 28 คน แบ่งเป็น เสี่ยงสูง 4 คน และเสี่ยงต่ำ 24 คน และให้ผู้สัมผัสทุกคนสังเกตอาการตนเอง

ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 46,047 ราย เสียชีวิต 15 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบทวีปยุโรปสำหรับประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

 

  • สหรัฐอเมริกา 16,603 ราย
  • สเปน 6,318 ราย  
  • บราซิล 4,144 ราย  
  • เยอรมนี 3,350 ราย  
  • สหราชอาณาจักร 3,207 ราย

 

ส่วนสถานการณ์ฝีดาษวานรในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 6 ราย แบ่งเป็น การติดเชื้อในประเทศที่มีประวัติสัมผัสกับชาวต่างชาติ 3 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ขณะนี้รักษาหายแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2 ราย จากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 1-5 จนครบกำหนด 21 วันแล้ว รวมจำนวน 44 คน ไม่มีอาการป่วย และไม่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรด้วย    

ทั้งนี้ นายแพทย์โอภาส ระบุว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทยไม่ว่าจะเป็นการคัดกรอง เฝ้าระวัง ป้องกันโรค พร้อมเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังขณะป่วย

 

ขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เดินทางไปหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาด โรคฝีดาษวานร หรือพำนักอาศัยที่ต่างประเทศ ให้เลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกายสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดและไม่สัมผัสสัตว์ป่วย  

 

หากผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422