“ยาเสียสาว” คืออะไร ทำไมอันตราย ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

11 มิ.ย. 2568 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 08:55 น.

รู้จักกับ "ยาเสียสาว" กลุ่มยาระตุ้น-หลอนประสาทรุนแรง จากรณีข่าว "หมอแอร์" โดยยาเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

จากข่าวกรณี "หมอแอร์" พ.ต.อ.แพทย์หญิงอัญชุลี แพทย์ด้านจิตเวชประจำโรงพยาบาลตำรวจ ถูกจับปมสั่งยานอนหลับจำนวนมากไปขายเป็น "ยาเสียสาว" ยานี้ถือเป็นอันตรายต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะทำให้หมดสติ มึนงง หรือขาดสติ เพื่อก่ออาชญากรรม เช่น รูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ

รู้จักกับ "ยาเสียสาว" คืออะไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า "ยาเสียสาว" หรือ "ยาเสียหนุ่ม" คือ GHB (gamma-Hydroxybutyric acid) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ตื่นตัว สนุก และอาจกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ หากได้รับในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของสมอง ระบบหายใจ หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

ยา GHB มีทั้งชนิดเม็ด ผง และเหลว (Liquid X หรือ Liquid E) ละลายน้ำได้ดี มีรสเค็มเล็กน้อย ทำให้ยากต่อการสังเกตเมื่อผสมในเครื่องดื่ม

ตัวอย่างยาที่มักถูกนำมาใช้เป็น "ยาเสียสาว" 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ยาเสียสาวจะมีส่วนผสมของยาประเภทที่ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้ง่วงซึม มึนงง หรือหมดสติได้ภายใน 30 นาที และมีผลข้างเคียงอาจจำเหตุการณ์หลังจากรับประทานยาไม่ได้ เช่น

  • มิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum)
  • อัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • ฟลูไนตราซีแพม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol)
  • เคตามีน (Ketamine) หรือ "ยาเค" เป็นสารออกฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง ในทางการแพทย์ใช้เป็นยาสลบ หากหมดสติด้วยฤทธิ์ของยาเค เมื่อรู้สึกตัว เหยื่ออาจมีอาการมึนงง เห็นภาพลวงตา หรือประสาทหลอนได้

ยาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นยาควบคุม หรือยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีใบสั่งแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และมีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน

สาเหตุต้องสั่งยาโดยแพทย์

ยาในกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งยานอนหลับและยาคลายกังวล ถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2559 กำหนดให้การครอบครอง การผลิต การจำหน่าย หรือการใช้ยาเหล่านี้

ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดและควบคุมปริมาณการใช้ยา โดยมีข้อกำหนดและบทลงโทษที่เข้มงวดมากในการครอบครอง ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ด้วยเหตุผล ดังนี้

ด้านความปลอดภัย: ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางสูง หากใช้ผิดขนาด หรือใช้ร่วมกับสารอื่น เช่น แอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เช่น ภาวะกดการหายใจ สมองหยุดทำงาน หมดสติ หรือโคม่า แพทย์จะประเมินความเหมาะสมในการใช้ยา กำหนดขนาดที่ถูกต้อง และติดตามผลข้างเคียง

ป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด: เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงง หรือหมดสติได้ง่าย จึงเป็นเป้าหมายของผู้ไม่หวังดีที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม 

ผลข้างเคียงและการใช้ยาเกินขนาด: หากใช้เกินขนาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แพทย์ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเป็นอย่างดี และสามารถให้คำแนะนำดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง: ยาเหล่านี้มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน เช่น ใช้ในการรักษาโรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือเป็นยาสลบในการผ่าตัด การใช้ยาจะต้องเกิดจากการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ดังนั้น หากอาศัยคุณสมบัติของยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มาผสมเป็น "ยาเสียสาว" เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำร้ายผู้อื่น นำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง