สถิติน่าตกใจ“หญิงไทย”ไม่สูบบุหรี่ตายสูงมะเร็งปอดจู่โจมเงียบ

10 มิ.ย. 2568 | 09:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2568 | 09:54 น.

แพทย์ มช. เปิดสถิติน่าตกใจ เตือน “หญิงไทย” เสี่ยงตาย จากโรดมะเร็งปอด จู่โจมเงียบ แม้ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ ปัจจุบันเริ่มพบในคนอายุน้อยมากขึ้น

นพ.ปริญญา เรือนวิไล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ หน่วยโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า “มะเร็งปอด” เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในปอด ความน่ากลัวคือ มักไม่แสดงอาการในระยะแรก และเมื่อแสดงอาการแล้ว มักเข้าสู่ระยะลุกลาม จนยากต่อการรักษา

มะเร็งปอด เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่พบผู้ป่วยใหม่ถึง 2,500 รายต่อปี และเสียชีวิตมากถึง 1,800 ราย ต่อปี ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน เริ่มพบในคนอายุน้อยมากขึ้น”

ชนิดของมะเร็งปอดและความแตกต่าง

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักคือ

1. ชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer - SCLC)
แพร่กระจายไว พบมากในผู้สูบบุหรี่

2. ชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer - NSCLC)
พบบ่อยกว่า แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น squamous, adenocarcinoma, neuroendocrine

กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง

• ผู้ที่สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ผู้สูบ (secondhand smoker)

• ผู้สัมผัสฝุ่น PM 2.5 หรือสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน (asbestos)

• ผู้มีประวัติคนในครอบครัวป่วยมะเร็งปอด

• ผู้หญิงโดยเฉพาะในภาคเหนือ แม้ไม่สูบบุหรี่ ก็มีความเสี่ยงสูงจากมลภาวะทางอากาศ

อาการที่ควรสังเกต

• ไอเรื้อรัง

• ไอมีเลือด

• หายใจลำบากหรือเหนื่อยผิดปกติ
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

• เจ็บหน้าอก

หากมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, CT scan, PET scan หรือการตัดชิ้นเนื้อเพื่อยืนยัน
แนวทางการรักษา

การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค เช่น

• ผ่าตัด

• เคมีบำบัด

• การฉายแสง

• การให้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

• การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

การป้องกันและดูแลสุขภาพปอด

• หลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 และควันพิษ

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

• สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง

• ตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคปอด

“การหมั่นดูแลสุขภาพปอดและตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันโรคที่อาจพรากชีวิตโดยไม่รู้ตัว” นพ.ปริญญา เรือนวิไล กล่าว