อาการไอแบบไหน เป็นสัญญาณเตือน "มะเร็งปอด" ในช่วงระยะแรก

09 มิ.ย. 2568 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 13:18 น.

แทพย์เตือนอาการไอเรื้อรัง ภัยเงียบ ‘มะเร็งปอด’ พบได้บ่อยแต่คนไข้รู้ตัวช้า หากพ้นระยะแรกอาจรักษาไม่ทัน เสี่ยงเสียชีวิตสูง

พญ.มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ในแต่ละปี "มะเร็งปอด" ได้คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก นับได้ว่าเป็นโรคคร้ายที่ไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก เมื่อรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินไป

โดยมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีทั้ง adenocarcinoma และ squamous cell carcinoma และอีกชนิดคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) ซึ่งพบได้น้อยกว่า แต่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายแสงได้ดี

อาการไอแบบไหน เป็นสัญญาณเตือน \"มะเร็งปอด\" ในช่วงระยะแรก

โดยมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบเองหรือผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง เป็นระยะเวลานาน 20 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 8 – 20 เท่า เพราะสารเคมีในบุหรี่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อปอดและกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ไม่ควรมองข้าม เช่น การสัมผัสแร่ใยหินหรือแอสเบสตอสในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ก๊าซเรดอนที่สะสมจากหิน ดิน หรือทรายในสิ่งปลูกสร้างบางประเภท สารเคมีอย่างสารหนู ถ่านหิน หรือควันพิษจากท่อไอเสีย รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบในปอดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นถึง 1 – 1.4 เท่า

อาการไอแบบไหน เป็นสัญญาณเตือน \"มะเร็งปอด\" ในช่วงระยะแรก

ความเสี่ยงและอาการโรคมะเร็งปอด

  • กลุ่มเสี่ยงพิเศษคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งปอด 
  • มะเร็งปิดในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ เป็นภัยเงียบ
  • เมื่อโรคลุกลามผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชัดเจนมากขึ้น เช่น ไอเรื้อรัง พบได้ถึง 50–75% ของผู้ป่วย 
  • ไอมีเลือดปนหรือเลือดสดในเสมหะ พบ 25–50% 
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยง่าย
  • เจ็บหน้าอก 
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ\หายใจมีเสียงดัง หรือเสียงแหบ 

อาการเหล่านี้อาจคล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่น เช่น วัณโรค จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียดเพื่อความแน่ชัด

พญ.มัณฑนา กล่าวว่า การตรวจเอกซเรย์ปอดทั่วไปอาจไม่สามารถพบก้อนมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ ดังนั้นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้รังสีต่ำ (Low-dose CT scan) จึงมีความแม่นยำและสามารถช่วยตรวจพบความผิดปกติในปอดได้เร็วกว่ามาก วิธีนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เป็นแนวทางมาตรฐานในการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่มากกว่า 30 pack-years และเลิกบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี แม้จะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม

อาการไอแบบไหน เป็นสัญญาณเตือน \"มะเร็งปอด\" ในช่วงระยะแรก

หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษาตามชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแนวทาง ได้แก่ การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงหรือ Targeted Therapy ซึ่งแพทย์จะร่วมพิจารณากับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการรักษา ดังนั้นควรตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ เพราะแค่ “อาการไอ” ก็อาจเป็นสัญญาณแรกของโรคมะเร็งปอด