"หัวใจล้มเหลว” ต้นเหตุ เอ๋-ไพโรจน์ สังวริบุตร เสียชีวิต

03 มิ.ย. 2568 | 07:22 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2568 | 09:23 น.

รู้จักกับภาวะ "หัวใจล้มเหลว" อาการโรคหัวใจกำเริบและช็อกหมดสติ จนทำให้อดีตพระเอกดังอย่าง "เอ๋-ไพโรจน์ สังวริบุตร" ถึงแก่กรรมอายุ 72 ปี

รู้จักกับภาวะ "หัวใจล้มเหลว" อาการโรคหัวใจกำเริบที่ทำให้อดีตพระเอกดัง เอ๋-ไพโรจน์ สังวริบุตร ชื่อเล่น (18 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568) ช็อกหมดสติจนถึงแก่กรรมในวัย 72 ปี

โดยเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเหมาะสม มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • อ่อนเพลียไม่มีแรง เหนื่อยง่าย หรือหอบเมื่อทำกิจกรรม
  • นอนราบไม่ได้เพราะจะรู้สึกเหนื่อย อึดอัดหรือไอแต่หากลุกนั่งก็จะอาการดีขึ้น
  • เบื่ออาหาร แน่นท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน
  • บวม กดแล้วบุ๋ม โดยเฉพาะที่บริเวณขา หน้าแข้ง หรือเท้า

ปัจจุบัน สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรโลก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี และ 85% เป็นผลจากอาการหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 4 หมื่นรายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน 

รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันที่อย่างที่บางท่านอาจเข้าใจผิด แต่ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นเป็นภาวะที่หัวใจ “เปรียบเสมือนเครื่องปั๊ม (pump) น้ำ” หรือในที่นี้ คือ ปั๊มเลือด ทำงานได้ลดลง ปั๊มเลือดได้น้อยลง ดังนั้นเลือดจึงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง 

ขณะเดียวกันเมื่อปั๊มเสียการทำงาน จะมีน้ำคั่งบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำคั่งในปอด (ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ นอนแล้วหายใจอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่ง) หรือน้ำคั่งบริเวณขา (ผู้ป่วยอาจมีขาบวม) น้ำคั่งในช่องท้อง (ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องอืด) เป็นต้น  

ดังนั้น ภาวะหัวใจล้มเหลวจึงเกิดได้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจทุกประเภท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจทุกประเภทมีโอกาส (มีสิทธิ์) ที่จะมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โรคหัวใจที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวได้บ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น