ศ.นพ.อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความร่วมมือเปิดตัวโครงการ “CheCKD Now” เสริมสร้างการตรวจคัดกรองไตในผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง ยกระดับการดูแลสุขภาพเชิงรุก รวมงบประมาณ 5 แสนบาท สำหรับอุปกรณ์ในการตรวจปัสสาวะ
เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของผู้เข้ารับบริการในเวลารวดเร็ว ยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง โดยเน้นการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองอย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในระยะยาว
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีระหว่างความร่วมมือของแพทย์ จากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน โดยภาคเอกชนจากบริษัทต่างๆ ถือว่ามีส่วนสำคัญ ในสนับสนุนสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยมาตลอด ทั้งการพัฒนาโปรเจกต์หรืองานวิจัย
"ทางสมาคมเราไม่มีเงินสนันสนุนจากภาครัฐ หากมองในอีกมุมคืองบประมาณของไทย เติบโตไม่ทันกับความต้องการทางการแพทย์ในประเทศ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงจากโรคต่างๆ ก็มีความต้องการรักษาสูง ทางสมาคมเราจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณไปได้ เพราะความร่วมมือกับเอกชนคือการทำเพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งบริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ มีความร่วมมือในลักษณะนี้กับนานาประเทศอยู่แล้วทั้งในเอเชียและยุโรป ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย"
รศ.พญ.วีรนุช รอบสันติสุข กรรมการบริหารสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นโรคร่วม ที่สามารถเกิดร่วมกัน โดยผู้ป่วยอาจเริ่มเป็นเพียงโรคเดียว และมีความเสี่ยงที่โรคอื่นๆ จะตามมาได้ และมีความซับซ้อน เปรียบเสมือนวงจรที่แต่ละโรคล้วนส่งผลกระทบและกระตุ้นซึ่งกันและกัน ซึ่งโรคเหล่านี้จึงกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและทุพพลภาพในประเทศไทย
สถานการณ์โรคไตในประเทศไทยน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease หรือ CKD) นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปีงบประมาณ 25671 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 1.12 ล้านคน และโรคนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี การเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อสร้างระบบป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติบ่งชี้ว่าในแต่ละวัน มีผู้เสียชีวิตจากโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเฉลี่ยถึง 20-30 ราย มิเพียงแต่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมหาศาลจากการต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไต หากแต่ยังสร้างภาระทางเศรษฐกิจและจิตใจอย่างมากกับผู้ป่วย และครอบครัว
สิ่งที่น่ากังวลคืออุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในระยะเริ่มต้น โรคมักไม่แสดงอาการใดๆ ที่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่รับรู้ถึงอันตรายของโรคนี้
ในขณะเดียวกัน โรคหัวใจและหลอดเลือดก็ยังคงครองตำแหน่งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างยิ่งคือ ภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุม ยิ่งไปกว่านั้น โรคเบาหวาน เองก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่ซ่อนเร้น หากระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จะยิ่งเป็นการเร่งกระบวนการเสื่อมของไต นำไปสู่ภาวะไตวายในอัตราที่รวดเร็วขึ้น
ดังนั้น การตรวจหาโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือที่เรียกว่า โปรตีนูเรีย หรือการตรวจวัดระดับ ไมโครอัลบูมิน ถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างยิ่งในการคัดกรองและตรวจพบโรคไตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่โรคจะลุกลามไปถึงระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โครงการ “CheCKD now” จึงเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการดูแลสุขภาพเชิงรุกของคนไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต ซึ่งเป็นภัยเงียบที่สังคมไม่ควรมองข้าม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อลดความสูญเสียจากโรคร่วมดังกล่าว