ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากการประเมินผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check In (1 ม.ค. 2563 - 20 ก.พ. 2568) จากจำนวน 6 ล้านราย พบสถิติคนไทย ดังนี้
โดยกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด และปัญหาจิตเวชที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5 แสนคน ในขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายปี 2567 พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,217 คน หรือเท่ากับ 8.02 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 15 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 3.3 หมื่นคน เฉลี่ยวันละ 93 คน หรือคิดเป็นจำนวนคนพยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง และข้อมูลจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทยปี 2567 คาดการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน
นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าเดินทางพบแพทย์ ผลกระทบทางอ้อม เช่น การสูญเสียรายได้และผลิตภาพแรงงานจากการขาดงานหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การลดกำลังแรงงานย่อมส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง
จากการศึกษาโดย Arias et al. (2022) ประมาณการจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียไป (Disability adjusted life years: DALYs) จากโรคจิตเวช ในปี พ.ศ. 2562 พบประชากรทั่วโลกมีการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคจิตเวช ประมาณ 418 ล้านปี หรือคิดเป็น 16% ของปีสุขภาวะที่สูญเสียไป (DALYs) จากภาระโรคทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าโรคจิตเวชส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลกอย่างรุนแรง โดยคิดเป็น 1 ใน 6 ของภาระโรคทั้งหมด สูงกว่าการประมาณการแบบเดิมถึง 3 เท่า และมีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากภาระโรคจิตเวชอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 169 ล้านล้านบาท
สำหรับประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) มีการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคจิตเวช ประมาณ 32 ล้านปีหรือคิดเป็น 10.7% ของปีสุขภาวะ ที่สูญเสียไป (DALYs) จากภาระโรคทั้งหมด และการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ตามข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 19,284.9 พันล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นประมาณ 964 พันล้านบาท ดังนั้น การลงทุนส่งเสริมสุขภาพใจให้เกิดขึ้นในระดับชาติ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ช่วยลดต้นทุนระยะยาว และสร้างสังคมที่มีศักยภาพ
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต ได้ตระหนักดีว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในวงกว้าง การจัดการปัญหานี้ไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้ เนื่องจากลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ดังนั้น การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
ข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์