องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ "โรคอ้วน" เป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงในประเทศไทยโรคอ้วนถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญ โดยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
โรคอ้วนเกิดจากการสะสมของไขมันในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายและนำไปสู่โรคต่างๆ นอกจากนี้โรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังร้ายแรง อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง
โดยเกือบหนึ่งในสามของผู้ที่เป็นโรคอ้วนประสบกับภาวะเหล่านี้ นอกจากจะเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว โรคอ้วนยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในรูปแบบของประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง
ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และอุปสรรคระยะยาวต่อการพัฒนาของประเทศไทย มีการประมาณการเมื่อปีพ.ศ. 2562 ว่าโรคอ้วนส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (หรือราว 220,000 ล้านบาท) และคาดว่าตัวเลขนี้อาจสูงถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี (หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2603 หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินเป็นภาวะที่เกิดจากหลายปัจจัย โดยมีทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ ดังนี้
อิทธิพลทางพันธุกรรม
พันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการสะสมไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน การเผาผลาญแคลอรี่ และการควบคุมความอยากอาหาร แม้ว่าพันธุกรรมอาจเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การดูแลตัวเองก็สามารถช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยนี้ได้
พฤติกรรมการดำเนินชีวิต
การเลือกวิถีชีวิตและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตมีความสัมพันธ์กับการสะสมไขมันในร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือแคลอรี่มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือแคลอรี่สูง การไม่ออกกำลังกาย หรือการใช้ชีวิตที่ขาดการเคลื่อนไหว ทำให้ร่างกายสะสมไขมันและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
ภาวะทางการแพทย์และยาบางชนิด
บางโรค เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือกลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการชัก ยาเบาหวาน ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือยาสเตียรอยด์ ก็อาจส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวได้
อายุและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
เมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมน การเผาผลาญ และมวลกล้ามเนื้อสามารถส่งผลให้การควบคุมน้ำหนักยากขึ้น ทำให้มีโอกาสเพิ่มไขมันในร่างกาย
ปัจจัยอื่นๆ
บางปัจจัยอาจมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก เช่น การตั้งครรภ์ การเลิกสูบบุหรี่ การขาดการนอนหลับ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงในไมโครไบโอมของร่างกาย นอกจากนี้ ความพยายามในการลดน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมในอดีตก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การลดน้ำหนักเป็นเรื่องยากขึ้น
ดังนั้นการรู้จักและเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้สามารถช่วยให้เรามีการป้องกันและจัดการน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินในอนาคต