ส.ป.ก.มั่นใจทวงคืนได้แน่ที่แสนไร่ ส่งมอบคทช.จัดสรรสหกรณ์ผู้ยากไร้

22 ส.ค. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ส.ป.ก.คาดทวงคืนที่จากผู้ยึดครองแปลงใหญ่ได้กว่า 1 แสนไร่ พร้อมเข้าปรับสภาพเพื่อส่งมอบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ไปจัดให้ผู้ยากไร้เข้าทำกิน ชี้จัดได้เพียงแปลงขนาด 5-7 ไร่ ต้องมีแผนรองรับให้พอเลี้ยงชีพ

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.ได้เร่งรัดดำเนินการ ตามแผนปฏิบัติการ 129 วันทวงคืนที่ส.ป.ก.จากผู้ยึดครองแปลงใหญ่ มีความคืบหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ โดยขณะนี้ได้ปักป้ายแจ้งผู้ยึดครองพื้นที่เป้าหมายครบทั้ง 431 แปลง เนื้อที่ 4.37 แสนไร่ อยู่ในขั้นตอนที่ผู้อ้างสิทธิต้องยื่นคัดค้านภายใน 15 วัน และเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.พื้นที่จะพิจารณาเอกสารหลักฐาน ว่าเป็นเอกสารสิทธิที่ดินใดใน 7 รายการหรือไม่ โดยจะแจ้งผลการพิจารณาภายใน 30 วัน ซึ่งในทางปฏิบัติบางพื้นที่อาจพิจารณาเสร็จในไม่กี่วัน และจะมีรายงานผลการปฏิบัติมายังศูนย์ประสานงาน พร้อมเผยแพร่ความคืบหน้าให้ติดตามอย่างต่อเนื่องโปร่งใส

ทั้งนี้ ในรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิมาแสดง หรือส.ป.ก.จังหวัดเห็นว่าไม่มีสิทธิในที่ดิน จะแจ้งให้รื้อถอนและย้ายออกไป หากครบกำหนดแล้วยังไม่ดำเนินการ ทางส.ป.ก.ได้ประสานโดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งกองทัพภาค และกองบัญชาการตำรวจภาคต่าง ๆ จัดกำลังเพื่อร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อเข้ารื้อถอนต่อไป โดยหากให้ทางการเข้าดำเนินการ จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การจะเข้ารื้อถอนนั้นทางรัฐบาลกำชับให้ใช้ความละมุนละม่อม หากมีมวลชนขัดขวางให้ถ่ายภาพเก็บหลักฐานเพื่อเอาผิดในวันหน้า

เลขาฯส.ป.ก.กล่าวอีกว่า ตามแผนงานที่ส.ป.ก.ได้ชี้เป้าแปลงที่ดินขนาดใหญ่ที่เข้าดำเนินการเนื้อที่รวมกว่า 4.37 แสนไร่นั้น คาดหมายว่าในเบื้องต้นจะยึดคืนกลับมาได้ประมาณ 1 แสนไร่ เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกรผู้ยากไร้เข้าทำกินต่อไป โดยขั้นตอนหลังจากยึดกลับมาแล้วนั้น ทางส.ป.ก.จะเข้าไปจัดที่ดินตามสภาพ เช่น ถอนตอต้นไม้เก่าออก ปรับระนาบที่ดินให้ใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถส่งหรือระบายน้ำเข้าพื้นที่แต่ละแปลงได้ รวมทั้งต้องจัดทำแนวถนนสายหลักสายซอย เพื่อที่เกษตรกรที่ได้รับจัดเข้าทำกินจะสามารถเข้าถึงแปลงที่ดินได้

"อย่างไรก็ตามในอดีตส.ป.ก.สามารถจัดแปลงที่ดินให้เกษตรกร ตามกฎหมายไม่เกินรายละ 50 ไร่ แต่ปัจจุบันที่ดินมีจำกัด ขณะที่มีผู้แจ้งความประสงค์ขอเข้าโครงการจำนวนมาก จึงต้องจัดให้ได้ในขนาดแปลง 5-7 ไร่ ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนโยบายให้เป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมในรูปสหกรณ์ ตามแนวทางที่ส.ป.ก.ได้ดำเนินการนำร่องที่อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่เรียกกันว่าลานสักโมเดล หรืออุทัยธานีโมเดล"

นายสรรเสริญกล่าวด้วยว่า ดังนั้น ที่ส.ป.ก.ที่ทวงคืนมาได้นั้น หลังจากที่ส.ป.ก.จัดพื้นที่เสร็จแล้ว จะส่งมอบให้อนุกรรมการจัดสรรที่ดินทำกิน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ชุดภายใต้คทช.รับไปดำเนินการต่อไป โดยในทางปฏิบัติคือ เกษตรกรที่แจ้งความจำนงจะขอรับจัดสรรที่ดินทำกิน ต้องไปรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ จากนั้นส.ป.ก.จะมอบที่พร้อมเอกสารส.ป.ก.4-07 ให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สหกรณ์รับไปจัดสมาชิกลงพื้นที่ต่อไป โดยแต่ละแปลงนอกจากที่จัดให้เกษตรรายละ 5-7 ไร่แล้ว จะมีที่แปลงใหญ่เพื่อให้ใช้ทำประโยชน์ร่วมกันด้วย

เนื่องจากแปลงที่เกษตรกรได้รับการจัดให้มีขนาดเล็กลง อนุกรรมการพัฒนาการทำกินจึงต้องเข้ามาร่วมศึกษาและแนะนำการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการยังชีพด้วย โดยอาจต้องพัฒนาอาชีพเสริม หรือทำให้ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าเพิ่มก่อน ดังนั้นการจัดการกับแต่ละแปลงที่ยึดคืนมาได้ ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ให้สอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละแปลงด้วย อาทิ ที่ดินสวนปาล์มหรือสวนยางพาราที่ยึดมาได้นั้น หากจัดแบ่งให้เกษตรกรไปเลย เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากปาล์มหรือยางพาราที่มีอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราเพิ่ม หรือสวนปาล์มถ้าแบ่งเป็นแปลงเล็ก 5-7 ไร่ ผลผลิตที่ได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จึงต้องพิจารณาอีกทีว่า ควรส่งเสริมอะไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559