เทียร์2พลิกส่งออกโต อาหาร9แสนล้านการ์เมนต์เฮรับ/หวังหลุดไอยูยูต่อ

06 ก.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เอกซเรย์สินค้ากลุ่มหลักส่งออกไปสหรัฐ หลังมะกันปลดล็อกขยับไทยขึ้นเทียร์ 2.5 รายงานค้ามนุษย์ปี 59 “กุ้ง ทูน่า อาหารสำเร็จรูป การ์เมนต์” ดี๊ด๊าคาดครึ่งหลังคู่ค้าสบายใจ แห่นำเข้าเพิ่ม หลังเบร็กซิททำสะดุดชั่วคราว ด้านสภาผู้ส่งออกจับตา 3เดือนอาหารทะเลพุ่งผู้ซื้อมีความเชื่อมั่น ส่วนบัวแก้วหวังปลดล็อกใบเหลืองไอยูยู สภาหอฯจี้ทุกฝ่ายลุยต่อขึ้นเทียร์ 1

[caption id="attachment_67531" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริการอบ 5 ปี-ปัจจุบัน สถิติการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริการอบ 5 ปี-ปัจจุบัน[/caption]

จากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้แถลงรายงานการค้ามนุษย์ หรือTIPs Report ประจำปี 2559 โดยเลื่อนอันดับไทย สู่สถานะที่ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง(Tier 2 Watch list หรือ Tier 2.5) จากใน2 ปีที่ผ่านมาตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 (Tier 3)ที่มีสถานะเลวร้ายสุด สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของไทยและจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก และต่อประเทศคู่ค้า

ภาพดีขึ้นหวังส่งออกเพิ่ม

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การถูกปรับสถานะที่ดีขึ้นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ เพราะภาพลักษณ์สินค้าไทยจะดีขึ้น มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคสบายใจ และอาจมีผลให้คู่ค้านำเข้าสินค้าจากเรามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะเดียวกันจะเป็นส่วนสำคัญให้สหภาพยุโรป(อียู)ใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับสถานะประเทศไทยที่ดีขึ้นในกรณีที่ให้ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)

"ที่ผ่านมาเราอยู่ในเทียร์ 3 ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยไม่ค่อยดี แต่คู่ค้าและผู้บริโภคก็ยังซื้อ แต่ซื้อด้วยความไม่สบายใจ แต่เมื่อเราถูกปรับสถานะดีขึ้นเป็นเทียร์ 2.5 เทียบแล้วเราได้คะแนน 50-60 คะแนน จากเต็ม 100 จากเดิมเทียร์ 3 ได้คะแนนต่ำกว่า 50 ถือว่าสอบตก แง่ผู้บริโภคสหรัฐฯอาจซื้อและบริโภคสินค้าไทยมากขึ้น ปัจจุบันสินค้าประมงที่เราส่งออกไปสหรัฐและทั่วโลกสัดส่วนกว่า 50% เป็นสินค้ากุ้ง อย่างไรก็ดีในตลาดยุโรปหรืออียู การส่งออกสินค้ากุ้งของเราที่ลดลงมีเหตุผลหลักจากเราถูกตัดจีเอสพี(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) โดยสินค้ากุ้งแปรรูปต้องเสียภาษีสูงขึ้นจากเดิม 12% เพิ่มเป็น 20% และกุ้งสดแช่แข็งจาก 7% เพิ่มเป็น 12%"

ทูน่าเล็งสหรัฐฯ เพิ่มนำเข้า10%

สอดคล้องกับดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ที่กล่าวว่า การถูกปรับสถานะที่ดีขึ้นเป็น Tier 2.5 จะส่งผลทางอ้อมให้ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ คลายกังวลเรื่องสินค้าไทยมาจากแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หรือแรงงานทาส และจะบริโภคด้วยความสบายใจมากขึ้น จะส่งผลดีทำให้มีการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐฯที่คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกสินค้าทูน่าจากประเทศไทย คาดการนำเข้าปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% (จากปี 2558 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าไปสหรัฐฯ 1.09 หมื่นล้านบาท และส่งออกไปทั่วโลก 6.74 หมื่นล้านบาท)

"อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ทางสภาหอการค้าฯโดยคุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธาน และผมจะร่วมแถลงเรื่อง "ผลการจัดอันดับ TIPs Report 2016 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยสาระหลักนอกจากกล่าวชมเชยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว จะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายยังคงเดินหน้าช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถานะไทยดีขึ้นเป็นเทียร์2 หรือเทียร์ 1ต่อไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี เรื่องนี้อยากฝากให้เซ็กเตอร์อื่นๆ อย่าละเลย เฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าไก่ที่เขากำลังเพ่งเล็งเรื่องจ่ายค่าจ้างไม่เต็ม และมีแรงงานบังคับ"

อาหาร9 แสนล.ลุ้นบวก

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การถูกปรับสถานะดีขึ้นครั้งนี้ไม่เสียแรงที่ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันปรับปรุงแก้ไขปัญหามาจนสหรัฐฯเห็นการเปลี่ยนแปลง และขยับสถานะเราดีขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย เฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าประมง และอาหารทุกประเภทที่ในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกอาหารรวมกว่า 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีการส่งออกไปยังตลาดอียู สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน ตะวันออกกลาง และตลาดอื่น ๆ สัดส่วน 10, 11, 15, 15, 20, 4 และ 25% ตามลำดับ ล่าสุดทางสมาคมฯได้มีการพบปะกับสมาคมผู้นำเข้าสินค้าอาหารของอิตาลี ทางลูกค้าได้แสดงความยินดี และระบุมีความสบายใจที่จะสั่งซื้อสินจากไทยเพิ่มขึ้น และหวังในเรื่องนี้จะเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายของไทยรวมพลังกันเพื่อปลดใบเหลืองไอยูยูในโอกาสต่อไป

การ์เมนต์ชี้ส่งผลดีตลาด

เช่นเดียวกับนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการ และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่กล่าวว่า การปรับสถานะดีขึ้นย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ ที่ผ่านมาไทยถูกขึ้นบัญชี Tier 3 มา 2 ปี สหรัฐฯไม่มีบทลงโทษทางการค้าต่อภาคเอกชนไทย ยังค้าขายกับภาคเอกชนของสหรัฐฯได้ปกติ แต่มีผลทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถจัดซื้อ หรือจัดหาสินค้าจากประเทศที่อยู่ในบัญชี Tier 3 ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ รวมถึงงดให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีในกรณีต่างๆ

"ที่ผ่านมากลุ่มเครื่องนุ่งห่มเป็น 1 ในสินค้าที่มีปัญหาเรื่องการใช้แรงงาน และถูกสหรัฐเพ่งเล็งนอกจากประมง โดยมีแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย มีแรงงานบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงงานที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน แต่เวลานี้ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายลงแล้ว เรื่องเทียร์ 2 นี้จะมีผลทำให้เราส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐฯ(ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 36% ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปทั่วโลก)ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ก็น่าจะมีผลเพราะคู่ค้าจะซื้อด้วยความสบายใจมากขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น อียู มีกรณีเบร็กซิทของอังกฤษ ทำให้ค่าเงินเขาอ่อนลง ซื้อสินค้าเราแพงขึ้น คงทำให้เขาซื้อเราน้อยลง ไม่เกี่ยวกับเทียร์2"

ขณะที่นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มั่นใจว่า การปรับสถานะขึ้นมาอยู่ใน Tier 2.5 ของไทย จะส่งผลเชิงบวก ทำให้ลูกค้ามั่นใจสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน+ฮ่องกง สัดส่วน 36, 24, 14, 6, 5 และ 4% ตามลำดับ

จับตา3เดือนอาหารทะเลพุ่ง

ส่วนในมุมของนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ชี้ว่า การที่ไทยได้รับการปรับสถานะเป็น Tier 2.5 นั้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งของไทย เพราะผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยมากขึ้น จากการที่ไทยดูแลเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานผลิตสินค้า และส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยอาจจะเกิดขึ้นในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า รวมถึงช่วยให้ภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นในสายตาของผู้ค้าทั่วโลก

 ยันไม่มีผลส่งออกพลิกบวก

"ล่าสุดทางสภาผู้ส่งออกเพิ่งปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้ติดลบที่ 2% ซึ่งกรณีที่ไทยหลุดจากเทียร์ 3 มาอยู่ที่เทียร์ 2 วอตช์ ลิสต์ นั้นไม่ได้หมายความว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะพลิกกลับมาเป็นบวก ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แม้ว่าภาพลักษณ์ไทยจะดีขึ้นในสายตาคู่ค้า แต่วัตถุดิบพวกอาหารทะเล อย่างกุ้งของไทยอาจจะยังมีไม่เพียงพอ และการส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯไม่ไดเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกของไทยเป็นบวก เพราะไทยส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯมูลค่าแค่5 หมื่นล้านบาทเท่านั้นจากการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมด2แสนบาทบาท หรือคิดเป็น25% ถึงเพิ่มมากคงไม่มีทางให้การส่งออกไทยเป็นบวก แต่อาจจะทำให้ไตรมาส4 การส่งออกอาจจะดีขึ้นแต่ทั้งปีคงไม่บวก แต่อาจมีผลต่อการส่งออกในปีหน้า" นายนพพร กล่าว

พาณิชย์ย้ำผลดี 4 กลุ่มสินค้า

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การถูกปรับสถานะดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watch List ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล ทั้งนี้กรมฯ ได้ประเมินสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะสั้นผลกระทบต่อภาคการค้าไทยโดยตรงทันที ได้แก่ ภาพลักษณ์สินค้าไทยด้านแรงงานดีขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้บริโภคโดยทั่วไปในวงกว้าง นอกจากนี้จะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบเรื่องไอยูยูของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยได้ใบเหลืองอยู่

ส่วนในระยะยาว ไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและการแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น เพราะสินค้าไทยจะได้รับการยอมรับว่า สามารถควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายสากลมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้าและลดการถูกโจมตีในกลุ่มอาหารทะเลได้ อีกทั้งยังเกิดผลดีทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าปลีกในการสนับสนุนสินค้าและบริการของไทย ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล อ้อย และสิ่งทอ ที่ถูกเพ่งเล็งเรื่องแรงงาน

ขณะที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงของไทย (กุ้ง ปลาหมึก ปลา)ไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2558 มีมูลค่ารวม 2.58 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการส่งออก 1.65 หมื่นล้านบาท ส่วนการส่งออกสินค้าประมงของไทยในกลุ่มเดียวกันไปยังตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู ในปี 2558 มีมูลค่า 8,505 ล้านบาท และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 2,363 ล้านบาท

บัวแก้วหวังอียูใช้ปลดใบเหลือง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด และดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้รับความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล ตลอดจนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การนำมาตรา 44 มาใช้เร่งรัดออกกฎหมายก็ช่วยให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

"จากนี้ไปรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยไม่ได้เป็นการทำเพียงเพื่อตอบสนองต่อการจัดอันดับของสหรัฐฯ เท่านั้น นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังมีแผนจะหยิบยกผลการดำเนินงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ขึ้นมานำเสนอในการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งคาดหวังว่าการที่ไทยได้รับการปรับอันดับเรื่องการค้ามนุษย์จะส่งผลดีกับการตัดสินเรื่องไอยูยูด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559