วันที่ 11 มิถุนายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือเวียนถึง รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาพ อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบัน เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงาน ลงนามโดย นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราแล้วทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น
อ้างถึง หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส.(สฝปผ.) 0018/ว 380 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 เรื่อง ความผิดฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (8) , 160 วรรคสาม มีใจความระบุดังนี้
เนื่องจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยวดยานทางถนนของประชาชนในประเทศไทยมีความรุนแรงซึ่งเกิดความเสียหายและต้องสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ขับรถในขณะเมาสุราแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น
ฉะนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางถนนที่มีความรุนแรงและเกิดความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำนักงานอัยการสูงสุดจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีที่มีการดำเนินคดีกับผู้ขับรถขณะเมาสุราแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นไว้พิจารณา โดยให้พนักงานอัยการพิจารณาว่า พฤติการณ์ในการขับรถขณะเมาสุราของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีมีลักษณะเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8) ด้วยหรือไม่
หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาได้ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นความผิดดังกล่าวด้วย และยังมิได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา และในการฟ้องคดีให้พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบรถของกลางตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส (สฝปผ.) 0018/ว 380 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 ตามที่อ้างถึงด้วย