เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

22 พ.ค. 2568 | 03:27 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2568 | 03:43 น.

ธนารักษ์ เปิดจำหน่าย จ่ายแลก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 14 มกราคม 2568

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 26,469 วัน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง 

กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ จึงได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกในโอกาสสำคัญอันเป็นมหามงคลในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญชนมายุ 26,469 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ทรงเจริญพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

โดยมีเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก จำนวน 6 ชนิด และเหรียญที่ระลึก จำนวน 2 ชนิด โดยมีกำหนดเปิดจำหน่าย จ่ายแลก ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายเหรียญที่ระลึก หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย

เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา

ทองคำความบริสุทธิ์ 99% ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร 

น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 70,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา

ทองคำความบริสุทธิ์ 99% ชนิดราคา 30,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร 

น้ำหนัก 15 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 60,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,500 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา 

เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิดราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร 

น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา

เงินความบริสุทธิ์ 92.5% ชนิดราคา 1,000 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร 

น้ำหนัก 22 กรัม จำหน่ายราคาเหรียญละ 1,500 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา

ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม 

จำหน่ายราคาเหรียญละ 300 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา

ชนิดราคา 20 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 15 กรัม 

จ่ายแลกราคาเหรียญละ 20 บาท (ผลิตไม่เกิน 2,000,000 เหรียญ)

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

นายเอกนิติ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการออกแบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรตินั้น จะมีลวดลาย ดังนี้

เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา

ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย เบื้องบนระหว่างสองพระองค์มีเครื่องหมายจักรีบรมราชวงศ์อยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปปทุมอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และรูปเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 มีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี เหนือรัศมีมีเลข ๑๐ ภายใต้อุณาโลมใต้รูปพระราชลัญจกรและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 มีข้อความบอกราคาว่า “๓๐๐๐๐ บาท” 

ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” และ “พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ตามลำดับ

  • เหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทธรรมดา

มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา

  • เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทขัดเงา

มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท”

  • เหรียญกษาปณ์เงิน ประเภทธรรมดา

มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๑๐๐๐ บาท”

  • เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทขัดเงา

มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท”

  • เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ประเภทธรรมดา

มีลวดลายด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ทองคำ ประเภทขัดเงา เว้นแต่มีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท”

และได้จัดทำเหรียญที่ระลึก 2 ชนิด ประกอบด้วย 

เปิดจ่ายแลกเหรียญที่ระลึกพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า รัชกาลที่ 1

1.เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ 

  • ทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 มิลลิเมตร น้ำหนัก 150 กรัม 
  • ราคาเหรียญละ 3,000 บาท (ผลิตไม่เกิน 10,000 เหรียญ)

2.เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ

  • ทองแดงความบริสุทธิ์ 95% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 13 กรัม 
  • ราคาเหรียญละ 200 บาท (ผลิตไม่เกิน 50,000 เหรียญ)

โดยเหรียญที่ระลึกทั้ง 2 ประเภท มีลวดลายดังนี้

ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฉลองพระองค์ครุย ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างพระปรมาภิไธยของทั้งสองพระองค์

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราจักรีบรมราชวงศ์ ใต้รูปตราจักรีบรมราชวงศ์มีข้อความว่า “๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ประเทศไทย” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์กำหนดเปิดจำหน่าย จ่ายแลก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก

  • กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 02 618 6340
  • กองบริหารเงินตรา ถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี โทร. 02 565 7944
  • พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 282 0820
  • สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศ
  • Online : www.treasury.go.th 

เหรียญที่ระลึก

  • กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 02 618 6340
  • พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 282 0820
  • พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 281 9812
  • พิพิธตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 02 233 7390
  • พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053 224 237 – 8
  • พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น โทร. 043 306 167
  • พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา โทร. 074 307 071
  • สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศ
  • Online : www.treasury.go.th