อ่านเกมจีน ในวันที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เดินสายเยือน 3 ประเทศอาเซียน

16 เม.ย. 2568 | 06:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2568 | 06:03 น.

อ่านเกมจีน ในสายดร.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น ผอ. ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กรณี สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เลือกไปเยือน 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนคือ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา

รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (Thai-Chinese Strategic Research Center : TCRC) โพสต์เฟชบุ้คส่วนตัว "Aksornsri Phanishsarn" ว่า 

ในยุคทรัมป์ป่วนโลกอย่างหนัก ทริปแรกของปีนี้ สีจิ้นผิง เลือกไปเยือน 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (คือ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา) การขยับของจีนครั้งนี้สะท้อนอะไร และน่าจะมีเหตุผลเบื้องลึก อะไรอีกบ้าง

ทำไมปธน. สีจิ้นผิงเลือกไปเยือน 3 ประเทศนี้ เหตุผลสำคัญคงไม่ได้มีแค่คำอธิบายในภาษาทางการที่เผยแพร่กันทั่วไป เช่น

  • ไปเวียดนาม เพราะจะไปฉลองครบรอบ 75ปี ความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม และเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนในอาเซียน
  • ไปมาเลเซีย เพราะปีนี้ มาเลเซียเป็นประธานอาเซียน และจีนลงทุนมหาศาลในมาเลเซีย
  • ไปกัมพูชา เพราะเป็นพันธมิตรในสังกัดจีน และเอียงข้างจีนมานาน

ฯลฯ

แล้วอะไรที่น่าจะเป็นเหตุผลเบื้องลึก ที่มากกว่า สิ่งที่พูดกันทั่วไป เรามาลองไล่เรียงรายประเทศ ดังนี้

  • เวียดนาม ในยุคทรัมป์ขึ้นภาษีมหาโหด เพื่อความอยู่รอด เวียดนามต้องยอมหมอบให้สหรัฐ (เช่น รีบเสนอลดภาษีเหลือ 0 ให้สหรัฐ ) ไม่งั้นเศรษฐกิจเวียดนามจะกระทบหนัก เพราะพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปสหรัฐเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

ในมุมจีน เวียดนามมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับจีน และเพื่อไม่ให้เวียดนามเอนเอียงหรือยอมหมอบให้สหรัฐไปมากกว่านี้ สีจิ้นผิงจึง ต้องรีบบินไปย้ำความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับสหายเวียดนาม

ตอกย้ำความเป็นภารดรภาพ brotherhood กับสหายโตเลิม ผู้นำสูงสุดของเวียดนาม รวมทั้งการกระตุ้นกระแสความรักชาติไม่ยอมให้ใครมาย่ำยี ย้ำประสบการณ์ในการต่อสู้กับลัทธิ colonialism และ imperialism

ลึกๆ แล้ว จีนก็อาจจะแอบกังวลว่า เวียดนามในยุคเลขาฯ โตเลิม อาจจะไม่ได้ให้ priority มาทางจีนมากเหมือนยุคเลขาฯ จ่อง ที่เพิ่งเสียชีวิต

ที่สำคัญ ทรัมป์และอิลอน มัสถ์ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในเวียดนาม ครอบครัวทรัมป์มีโครงการลงทุนมหาศาลหลัก 1.5 พันล้านดอลลาร์ในเมืองบ้านเกิดของเลขาฯ โตเลิม และทรัมป์ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักธุรกิจใหญ่ในเวียดนาม (เช่น นางเหวียน เจ้าของสายการบิน Vietjet )

ดังนั้น การไปเยือนเวียดนามรอบนี้ จีนเร่งรุกขยายความร่วมมือกับเวียดนาม และลงนามความร่วมมือระหว่างกันมากถึง 45 ฉบับ !!

  • มาเลเซีย ในยุคนายกฯอันวาร์ มีท่าทีเชิงบวกและมีใจให้กับจีน และมาเลเซียยังเป็นประเทศมุสลิมที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับชาติตะวันตก (ยิว) อย่างชัดเจน

สีจิ้นผิงมองเห็นศักยภาพของมาเลเซียที่จะมีบทบาทในกลุ่มโลกขั้วใต้กับจีน เพื่อจะร่วมกันคานอำนาจบาตรใหญ่ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

สีจิ้นผิงจึงใช้จังหวะเวลานี้ไปเยือนมาเลเซีย เพื่อซื้อใจมาเลเซีย ประเทศมุสลิมที่ไม่เอายิว และมาเลเซียก็มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง จีนจึงต้องการดึงมาเลเซียมาเป็นพรรคพวกในกลุ่มโลกขั้วใต้ โดยเฉพาะการผลักดันให้มาเลเซียกลายเป็น BRICS full member ต่อไป

นอกจากนี้ มาเลเซียยุคอันวาร์ ยังได้ต้อนรับ welcome โครงการลงทุนของจีนจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟ ECRL และมีบริษัทจีนชั้นนำหลายแห่งไปลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซีย (ในขณะที่ บางประเทศในอาเซียนมีกระแสต่อต้านทุนจีนอย่างหนัก)

  • กัมพูชา ในยุคฮุนมาเน็ต ท่าทีของกัมพูชาต่อจีนก็อาจจะไม่จงรักภักดีมากเท่ากับในยุคฮุนเซน เพราะฮุนมาเน็ตเป็นผู้นำหัวสมัยใหม่รับการศึกษาและหล่อหลอมทางความคิดมาจากโลกตะวันตก จึงอาจจะปรับท่าทีไม่เอียงข้างจีนมากเกินไป และแสวงหาความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากขึ้น

(ล่าสุด ผู้บริหาร Space X ผู้ให้บริการ Starlink เพิ่งไปพบฮุนมาเนต)

สีจิ้นผิงจึงเลือกแวะไปกัมพูชาเป็นประเทศสุดท้ายในทริปนี้ก่อนยืนกลับจีน เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์กับกัมพูชา โดยเฉพาะด้านความมั่นคง เพื่อให้กัมพูชายังคงอยู่ฝั่งจีนอย่างเหนียวแน่นต่อไป