ทำฟัน"สิทธิบัตรทอง"ใช้ในกรณีใดได้บ้าง และอะไรบ้างที่ไม่ได้

20 ก.ย. 2565 | 00:07 น.

ทำความรู้จักกับสิทธิประโยชน์การบริการด้านทันตกรรม สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถใช้กรณีใดบ้าง และอะไรบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุ การใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในด้านทันตกรรม ว่า กรณีผู้ที่มีปัญหาช่องปาก หรือ ด้านทันตกรรม สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ โดยแสดงบัตรประชาชน  หากหน่วยบริการตามสิทธิเกินศักยภาพ อุปกรณ์ไม่พร้อม จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สามารถรักษาได้ตามขั้นตอน

 

สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมคุ้มครองอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ มีดังต่อไปนี้

 

สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม

 

  • 1.การถอนฟัน
  • 2.การอุดฟัน  อุดคอฟัน 
  • 3.ขูดหินปูน การเกลาฟันหรือเกลารากฟัน (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษา)
  • 4.ฟันปลอมฐานพลาสติก ทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้

ฟันปลอมแบบถอดได้มีอายุการใช้งาน 5 ปี หากผู้รับบริการได้รับความเห็นจากทันตแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องซ่อมฟันปลอมก่อน 5 ปี ผู้รับบริการสามารถใช้สิทธิได้

  • 5.รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม  (รากฟันน้ำนม)
  • 6.ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
  • 7.ผ่าฟันคุด (ตามข้อบ่งชี้ของทันตแพทย์)
  • 8.เคลือบหลุมร่องฟัน (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)
  •  
  • 9.การทาฟลูออไรด์วาร์นิช (เด็กอายุ 9 เดือน- 5 ปี)
  • 10.การเคลือบฟลูออไรด์ (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)

การเคลือบฟลูออไรด์แบบเข้มข้น ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำลายแห้งจากการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ หรือจากการกินยารักษาโรค ทางระบบที่ส่งผลให้น้ำลายแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ที่มีเหงือกร่น รากฟันโผล่ ที่ยากต่อการทำความสะอาด

  • 11.โรคปริทันต์อักเสบ สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมคุ้มครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษา 

โรคปริทันต์ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด โรคนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ    อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คือเหงือกบวม มีเลือดออกภายหลังการแปรงฟัน เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหารในบางครั้ง ฟันโยก มีเหงือกบวมเป็นหนองในกรณีที่เป็นโรครุนแรงมาก ๆ มีกลิ่นปาก ฟันยื่นยาวหรือแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้จนต้องมาให้ทันตแพทย์ถอนออก

  • 12. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก 

ให้บริการผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา

  • 13. จัดฟัน ในผู้มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ (ตามดุลยพินิจของทันตแพทย์)
     

สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมที่ไม่คุ้มครอง

 

  • 1.การครอบฟันน้ำนม/ครอบฟันแท้  เป็นการรักษาไม่ใช่บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 
  • 2.การรักษารากฟันแท้ สาเหตุที่สิทธิประโยชน์ สปสช. ยังไม่คุ้มครองเรื่อง การรักษารากฟันแท้  เนื่องจากเป็นข้อเสนอของคณะทำงานด้านสิทธิทางทันตกรรม โดยความเห็นชอบของทันตแพทยสภา ว่า ควรให้เฉพาะการรักษารากฟันน้ำนมก่อน เนื่องจากมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่า  ซึ่งทางทันตแพทย์ให้ความเห็นทำนองนี้ และบอกว่า การรักษารากฟันในเด็กเป็นการป้องกัน ส่วนในผู้ใหญ่เป็นการรักษา และรักษารากฟันอย่างเดียวในผู้ใหญ่นั้นไม่เพียงพอ เพราะฟันจะเปราะ ต้องมีการทำครอบฟันด้วย ซึ่งการทำครอบฟันนี้เห็นกันว่า อาจดูก้ำกึ่งจัดเป็นการเสริมสวยก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำครอบฟัน ในที่สุดไม่นานก็ต้องถอนแล้วใส่ฟันปลอมอยู่ดี รวมทั้งมีปัญหากำลังคนด้วย เพราะอาจต้องใช้ทันตแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถอนแล้วใสฟันเทียมน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงเป็นที่มาของสิทธิการได้รับฟันเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • 3.การเตรียมช่องปากเพื่อการจัดฟัน

           - กรณีขออุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด หากวัตถุประสงค์ต้องการทำเพื่อการจัดฟันถือว่าเกินความจำเป็น ไม่มีข้อบ่งชี้ของทันตแพทย์เพื่อการรักษาถือว่าไม่คุ้มครอง 

 

ทำฟัน"สิทธิบัตรทอง"ใช้ในกรณีใดได้บ้าง และอะไรบ้างที่ไม่ได้

 

ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

 

ที่มา :  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ