ตรวจการบ้านนโยบาย"ชัชชาติ" 99 วันทำอะไรไปแล้วบ้าง

09 ก.ย. 2565 | 08:30 น.

กทม.แถลงการดำเนินงานตามนโยบาย"ชัชชาติ" ใน "99 วันส่งการบ้านให้คนกรุง" เช็คเลยทำภารกิจอะไรไปบ้าง ปัญหาน้ำท่วม-การจราจรแก้ไขอย่างไร แนวทางด้านสิ่งแวดล้อม -เมืองน่าอยู่ ทำไปได้ถึงไหนแล้ว ตรวจการบ้านทั้งหมดที่นี่

วันที่ 9 กันยายน 2565 วันนี้กรุงเทพมหานคร นำโดยรองผู้ว่าฯ 4 คนประกอบด้วย นางสาวทวิดา กมลเวชช ,นายวิศณุ ทรัพย์สมพล ,นายจักกพันธุ์ ผิวงาม, และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ  ได้ออกมาแถลงผลงานตามนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ ในช่วง 99 วันที่ผ่านมาในหัวข้อ "99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง" โดยเนื้อหารายละเอียดและหัวข้อที่น่าสนใจมีดังนี้

 

นโยบาย 3 ด้านปลอดภัยดี สุขภาพดี บริหารจัดการดี
นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงนโยบาย 3 ด้าน ปลอดภัยดี สุขภาพดี บริหารจัดการดี  โดยระบุว่า นโยบายแรก 1.ปลอดภัยดี ได้จัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงกรุงเทพมหานคร (BKK RISK MAP) นำเข้าข้อมูลตำแหน่งหัวจ่ายดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ลงฐานข้อมูลระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) และกิจกรรมทำฐานข้อมูลบัญชีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการเผชิญเหตุ

 

นอกจากนั้นแล้วยังพัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัย เพิ่มประปาหัวแดงโดยเฉพาะเขตที่อยู่หนาแน่น พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน และปรับปรุงและบำรุงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย

 

2.นโยบายสุขภาพดี กทม.ได้ตั้งคลินิกวันเสาร์ และยังมีโครงการลองโควิด-19 รวม 9 คลินิก 9 โรงพยาบาลหลัก ศูนย์บริการบัตรคนพิการเบ็ดเสร็จ 9 แห่ง รวมถึงการเปิดคลินิกความหลากหลายทางเพศ 6 แห่ง กระจายอยู่ 6 โซนเขตของกทม. เปิดแซนด์บ็อกทางสุขภาพ  


 
3.นโยบายบริหารจัดการดี เดิมมีระบบบริการ SMART SERVICE อยู่แล้ว และคําขอออนไลน BKK OSS และเตรียมจะเพิ่ม 4 บริการงานทะเบียน 4 แบบฟอร์มออนไลน์, หลักเกณฑ์การคัดเลือกคนพิการเข้ารับราชการ กระบวนการสรรหาและบรรจุ (ต.ค.-พ.ย.), เพิ่มสวัสดิการครูและพนักงานเก็บและขนขยะ ทบทวนสวัสดิการและรูปแบบการจ้าง จัดทำร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลประจำปี และสนับสนุนความเท่าเทียม ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ประกาศนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และการป้องกันการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน

 

นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

 

ปัญหาน้ำท่วม -การจราจร-สายสื่อสาร
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน ทางกทม.ได้บริหารจัดการน้ำท่วมด้วยการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ อีกทั้งยังทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,358 กม. และขุดลอกคลองน้ำไหล 32 คลองเพื่อเปิดทางน้ำ1,665 กม. ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. ได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 ม. การก่อสร้างถาวร 1.5 ก.จาก 3.1 กม. และอยู่ระหว่างขอความร่วมมือ 1.41 กม.

 

ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมพร้อมรับมือในช่วงที่ฝนตกหนัก มีการลงพื้นที่ดูระดับน้ำในคลอง และกทม. พร้อมบูรณาการกับสำนักงานส่วนกลางทุกแห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชน 

 

ขณะที่ปัญหาด้านการจราจร  โดยเฉพาะกรณีราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมไปถึงเรื่องสัมปทาน ตอนนี้ได้ดำเนินการทั้งสองเรื่องและรอให้สภากทม.ให้ความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก่อนจะแจ้งประชาชน และประชุมสภากทม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อนำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

นอกจากนั้นแล้วยังได้ปรับปรุงทางม้าลาย 1,286 จุด จาก 2,788 จุด มีระบบ CCTV , การคืนพื้นผิวจราจร โดยคืนแล้ว 2 จาก 14 โครงการ และในปี 65 เพิ่ม 5 โครงการ ปี 66 เพิ่ม 7 โครงการ มีการดำเนินแก้ไขจุดเสี่ยงจาก 100 จุด ดำเนินการแล้ว 2 จุด เตรียมการปรับปรุง 54 จุด และวิเคราะห์เพิ่มอีก 44 จุด ภายในปี 65


 
ส่วนการนำสายสื่อสารลงดิน ปัจจุบันแล้วเสร็จ 62 กม. ปี 65 คาดว่าจะแล้วเสร็จ 74 กม. ปี 68 จะแล้วเสร็จ 174 กม. 

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.

 

 

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เผยว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวกับผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย การจัดระเบียบจุดทำการค้า พัฒนาศักยภาพผู้ค้า พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การค้าขายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ให้เหมาะสม 

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.

 

ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย และได้ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด 3,817 อยู่ระหว่างประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย และเสนอขอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย โดยกทม. มีแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงแผงค้าในพื้นที่ทำการค้าของ กทม. ทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ก.ย.-พ.ย. 65) 17 จุด ระยะที่ 2 (ธ.ค. 65-ก.พ. 66) 29 จุด และระยะที่ 3 (มี.ค.-พ.ค. 66) 26 จุด

 

นโยบายต่อมา สวน 15 นาทีทั่วกรุง หรือสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะการเดินประมาณ 800 ม. จากละแวกบ้าน โดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น ที่ดินเอกชน สุขเวชชวนารมย์ เขตราษฎร์บูรณะ ที่ว่างริมคลอง คลองเป้ง เขตวัฒนา และที่ดินราชพัสดุ สวนป่าสัก เขตจตุจักร เป็นต้น

 

นโยบายด้านการจัดการขยะ มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า และสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร 

นโยบายด้านการจัดการขยะ

 

 

นโยบายกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยว่า กทม. ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้กิจกรรมดนตรีในสวน เทศกาล 12 เดือน และเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง นำร่อง 11 ย่าน และจัดถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต มีทั้งหมด 1,855 ร้านค้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 28.6 ล้านบาท

 

นอกจากนั้นแล้วยังได้ยกระดับสวัสดิการคนพิการ คนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ โดยเปิดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ 4 จุด มีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน/จุด/วัน และกทม. ยังได้จ้างงานคนพิการเพิ่ม พร้อมพัฒนาคุณภาพให้คนพิการ และ สนับสนุนอาชีพและเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ

 

กทม. ยังได้เปิดกรุงเทพฯ เปิดข้อมูล เปิดการมีส่วนร่วม โดยได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบประมาณ ปี 66, Executive Order คำสั่งเปิดเผยข้อมูล ภายใน 90 วัน, Data Literacy Training อบรมการเปิดเผยข้อมูลกับข้าราชการ, แพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น และ Hack BKK (Open Innovation) เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าฯกทม.

                    

 

 

ประชาชนสามารถรับชมการแถลงผลงานโดยละเอียดผ่านไลฟ์ย้อนหลังได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้