กทม.ยื้อ! จ่ายหนี้BTSยื่นอุทธรณ์ลดมูลหนี้ แนะสูตรใหม่ใช้เงินอนาคตมาจ่าย

09 ก.ย. 2565 | 04:23 น.

กทม.ติดบ่วงหนี้ สายสีเขียว หลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง ชดใช้หนี้ ค่าจ้างเดินรถ ให้กับบีทีเอส 11,754 ล้านรวมดอกเบี้ย“เคที” ผ่าทางตันยื่นอุทธรณ์ พร้อมเจรจาบีทีเอส ขอผ่อนชำระ

 

หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว สร้างความระส่ำ กลายเป็นบ่วงคล้องคอ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เมื่อศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาวันที่ 7 กันยายน 2565 ในคดีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว)

 

 

โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันชำระค่าตอบแทนตามสัญญา ให้กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายฯ ฐานะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกทม.และ KT เป็นจำนวนเงิน รวมดอกเบี้ย 11,750 ล้านบาท ภายใน 180 วัน​ นับแต่คดีถึงที่สุด​ แต่ไม่รวมถึงการยื่นอุทธรณ์ของฝั่งกทม.

 

 

กู้แบงก์ ใช้รายได้อนาคต

              

ทางออกหนึ่งของกทม.ที่จะหาเงินมาชระหนี้คืนให้กับบีทีเอส แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินระบุว่ากทม.ต้องเจรจาของกู้เงินจากสถาบันการเงินการันตี โดยใช้รายได้อนาคตหลังปี 2573 ที่โครงการสายสีเขียว ท่อนกลางจะหมดอายุสัมปทานกลับมาเป็นของ กทม.

 

 

ซึ่งรายได้หลังจากนั้น จะใช้ในการชำระคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน เป็นรายงวดพร้อมดอกเบี้ย ตามแต่จะตกลงกัน แต่แนวทางนี้เป็นเรื่องที่แบงก์ต้องคิดหนัก เพราะเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าสัญญาสัมปทานส่วนตรงกลางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดอายุลง

อีกแนวทางปมภาระหนี้ ที่ค่าจ่างเดินรถที่มองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง นายชัชชาติ สุทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจเสนอเจรจารื้อสัญญา ขอลดอัตราค่าจ้างลงเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจากการจัดเก็บค่าโดยสารแต่ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับบีทีเอส คู่สัญญาด้วยว่าจะยินยอมหรือไม่ แต่หากสามารถตกลงกันได้ก็จะเป็นทางออกอีกทางที่ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

 

มติชัดยื่นอุทธรณ์

              

 

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด นัดพิเศษเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 8 กันยายน ได้มีการหารือถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม. และเคที ชดใช้ค่าเสียหายราว 11,754 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ช่วงส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า สายสุขุมวิท

 

 

สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทร ปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้กับ บีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ทางบริษัทและ กทม. ขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน พร้อมขอพิจารณาคดีใหม่ โดยจะต้องนำเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมหารือร่วมกับกทม.เร็วๆ นี้

              

 

“การขอพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากหนี้ที่มีอยู่เป็นหนี้ผูกพันระหว่างบีทีเอสซี-เคที-กทม. ซึ่งจะต้องศึกษาความชัดเจนข้อกฎหมายให้เกิดความรอบคอบ โดยบริษัทและกทม.จะศึกษาตัวเลขมูลหนี้ในส่วนใดบ้างที่ไม่ชัดเจนและไม่มีข้อสงสัยที่ต้องกังวล เพื่อลดปัญหาภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าตัวเลขใดที่ยังไม่มีความชัดเจนและมีข้อสงสัยจะชำระก่อนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโอกาสที่ไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ก็มีเช่นกัน หากได้ข้อสรุปแล้วจะเจรจากับบีทีเอสอีกครั้ง เพื่อขอชำระหนี้เป็นงวด หรือจะดำเนินการชำระหนี้อย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจา”

 

เจรจาประนอมหนี้

              

นายธงทอง กล่าวต่อว่า บริษัทจะขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครองและยื่นอุทธรณ์ ในประเด็นการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้ตามสัญญาที่เกิดขึ้นรวมทั้งมีปัจจัยใดบ้างที่ได้รับผลกระทบในการชำระหนี้ ปัจจุบันบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาตัวเลขในสัญญาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งเหลือระยะเวลาดำเนินการอีก 1 เดือน

              

“กรณีที่หลายคนมองว่าหากชำระหนี้ล่าช้าจะทำให้มูลหนี้เพิ่มขึ้นนั้น เรามองว่าไม่ได้การปิดกั้นโอกาสในการพูดคุยเจรจาระหว่างกัน ส่วนคดีที่ยังอยู่ในศาลปกครองเป็นไปตามกระบวนการ หากมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอาจมีการเจรจาประนอมหนี้ก็สามารถดำเนินการได้”

              

นายธงทอง กล่าวต่อว่า กรณีหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 มีมูลหนี้ชัดเจนแล้ว จะดำเนินการชำระหนี้ให้กับบีทีเอสเมื่อไรนั้น ทางบริษัทมองว่าหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 ยังมีหนี้บางรายการที่มีความชัดเจนและไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องรอดูว่ากทม.มีความคิดเห็นอย่างไร เพราะบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะดูแลค่าใช้จ่ายได้มากนัก

              

สอดคล้องกับ นายชัชชาติ ที่เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด 2 ประเด็น เคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ก่อนจ่ายหนี้ 11,750 ล้านบาท กรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กทม. และเคที ชดใช้หนี้ ดังนี้ 1.ประเด็นเรื่องที่ค้างอยู่ใน ครม. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ซึ่งหาก กทม. จ่ายไปก่อน แล้วเจรจาสำเร็จ

 

เงินที่จ่ายไปจะดำเนินการอย่างไร 2.ประเด็นส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีสัญญาจ้าง แต่เป็นการมอบหมายงานระหว่าง กทม. และ เคที ซึ่ง กทม.มีอำนาจจ่ายหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน นายชัชชาติกล่าวว่า ทั้งสองประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้แสดงหลักฐานต่อศาลปกครองกลางในครั้งนี้ และหากมีแง่มุมใดที่ต้องการความชัดเจนก็จะได้ยื่นแก่ศาลปกครองต่อไป

 

บีทีเอสพร้อมเจรจา

              

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” หากกทม.ขอเจรจาประนอมหนี้ด้วยการขอผ่อนชำระเป็นรายงวด มองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และบริษัทพร้อมเจรจาแต่ทั้งนี้ต้องนำเรื่องเข้าสู่การเจรจาของคณะกรรมกรรมการบริษัท

              

ขณะคำสั่งศาลปกครองให้กทม.และเคที ชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถให้กับบริษัท วงเงิน 11,750 ล้านบาทนั้น ศาลได้ยึดวัน ที่ยื่นฟ้องคือ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยให้ชำระคืนทั้งก้อน แต่ กทม.สามารถยืดเวลาออกไปจากการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่เมื่อเวลาถูกทอดยาวออกไป แน่นอนว่าภาระหนี้จากการเดินรถรายวันและดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันเมื่อรวมหนี้ทั้งค่าเดินรถและหนี้ลงทุนระบบเครื่องกล จะมีหนี้มากถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท

              

ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารของกทม.เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับบริษัทขึ้นอยู่ว่าจะตั้งราคาอยู่ที่เท่าใด หากอยู่ที่ 59 บาทตลอดสายก็ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ส่วนการเจรจายกเว้นค่าแรกเข้า 15-16 บาท ให้กับกทม.มองว่าเป็นไปได้ยาก  

กทม.ยื้อ! จ่ายหนี้BTSยื่นอุทธรณ์ลดมูลหนี้ แนะสูตรใหม่ใช้เงินอนาคตมาจ่าย