กฎหมายจราจรใหม่ มีผลบังคับใช้ 5 ก.ย. เพิ่มโทษอะไรบ้าง

04 ก.ย. 2565 | 11:36 น.

กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ 5 ก.ย. 2565 มีการเพิ่มโทษหนัก ทั้งจำคุก-ปรับ หลายคดีความผิด มีการเพิ่มโทษอะไรบ้าง เช็คที่นี่

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร หรือ ศจร.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 5 กันยายน 2565 โดยมีข้อปฎิบัติที่ประชาชนต้องรู้ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากมีการเพิ่มโทษในหลายคดี และโดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีการกระทำผิดซ้ำ 

โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ

 

นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียของ ผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง โดยเพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น 

 

  • ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
  • ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท, ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

 

  • เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ขณะเดียวกัน มีการกำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้, สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

สำหรับการนั่งบริเวณแค็บ หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด 

 

ส่วนที่นั่งนิรภัยหรือเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตราย

 

ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้  ซึ่งที่นั่งนิรภัยนี้ ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำประกาศและลงประกาศให้ทราบในราชกิจจานุเบกษา