ชงสธ.ยกเลิกฮอสพิเทล-โฮเทล ไอโซเลชั่น 1 ก.ย.นี้

10 ส.ค. 2565 | 09:59 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จ่อชงสธ.ยกเลิก ฮอสพิเทล-โฮเทล ไอโซเลชั่น 1 ก.ย.นี้ หลังพบมีจำนวนสถานประกอบการที่ลดลง ทั้งขณะนี้ยังมีระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ระบบ Home Isolation รองรับ ทั้งผุด คีออส รับคนกรุงติดโควิดปรึกษาหมอ

วันนี้(วันที่ 10 สิงหาคม 2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณายกเลิกระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบฮอสพิเทล (Hospitel) และโฮเทล ไอโซเลชั่น (Hotel Isolation) ว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พ้นจากการระบาดใหญ่ ขณะนี้จึงมีการพิจารณายกเลิกระบบฮอสพิเทล และโฮเทล ไอโซเลชั่น เบื้องต้น คาดว่าจะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ซึ่งกำลังดำเนินการและเสนอต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือ สธ. เพื่อออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ปัจจุบันได้มีการสำรวจเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า ฮอสพิเทล เหลืออยู่ 11 แห่ง จากช่วงแรกๆ มี 79 แห่ง และขณะนี้เหลือเตียงอยู่ 3,220 เตียง ส่วนโฮเทล ไอโซเลชั่น เหลือ 6 แห่ง จากช่วงแรกๆ 31 แห่ง และเหลือเตียงอยู่ 1,500 เตียง ซึ่งเห็นว่าจำนวนลดลง และขณะนี้ยังมีระบบการรักษาแบบ OPSI หรือผู้ป่วยนอก และระบบการรักษาแบบที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI มารองรับ

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังยกเลิกระบบการรักษาระบบฮอสปิเทล และโฮเทล ไอโซเลชั่น ว่า ไม่ว่าจะมีประกาศอะไรออกมา ทาง สปสช.พร้อมรับนโยบายต่างๆ เนื่องจากเป็นหน่วยงานสนับสนุน เป็นกลไกในการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งหากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับบริการแบบใด สปสช.ก็ไปเบิกจ่ายได้ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง

สปสช. มีมีระบบในการประสานข้อมูลการรักษาให้ผ่านสายด่วน 1330 แต่จริงๆ สามารถเดินไปยังสถานพยาบาลได้ทุกแห่งในการรับบริการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPSI) หรือหากแพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆ ประเมินว่าต้องทำ HI ก็สามารถทำได้ทันที และหากเป็นสิทธิบัตรทอง ทาง สปสช.จะเบิกจ่ายให้ ซึ่งเป็นระบบหลังบ้าน แต่ประชาชนไม่ต้องกังวลอะไร หากรับบริการตามสิทธิตามระบบของรัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว และปัจจุบัน สปสช.รับประสานให้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ที่สำคัญขณะนี้ สปสช.ยังร่วมกับผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นอีกช่องทางเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามสปสช.มีระบบรองรับผู้ติดโควิด-19 ที่ประสานเข้ามาเพื่อขอรับบริการรักษา นอกเหนือจากการเดินทางไปยังสถานพยาบาลเองเพื่อรับบริการแบบผู้ป่วยนอก โดย สปสช.มีทั้งสายด่วน 1330 และมีระบบ Teleheath/Telemedicine ซึ่งร่วมกับผู้ให้บริการ 3 บริษัท ทั้ง บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอพพลิเคชัน และ ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอพพ์ฯ MorDee (หมอดี) รวมถึง บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการแอพพ์ฯ คลิกนิก (Clicknic) ซึ่งปัจจุบันรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

 

ล่าสุด สปสช.ยังได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาและจัดตั้งตู้คีออส (Kiosk) ซึ่งเป็นตู้อัตโนมัติให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ได้ เบื้องต้น จะจัดตั้งในกรุงเทพฯ บริเวรห้างสรรพสินค้า และในชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ให้มีความสะดวกในการรับบริการมากขึ้น