โอมิครอน BA.5 ล่าสุดระบาดแล้ว 69.6% ทั่วโลก น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่

04 ส.ค. 2565 | 01:47 น.

โอมิครอน BA.5 ล่าสุดระบาดแล้ว 69.6% ทั่วโลก น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยข้อมูลจาก WHO Weekly Epidemiological Update ชี้โควิดไม่ใช่แค่เป็นแล้วหาย แต่ตายได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก

 

ล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 3 สิงหาคม 2565

 

Omicron (โอมิครอน) ครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 99%
ถ้าจำแนกตามสายพันธุ์ย่อยเปรียบเทียบรายสัปดาห์ พบว่า BA.5 มีสัดส่วนการระบาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 69.6%, BA.4 เพิ่มขึ้นเป็น 11.8% ในขณะที่ BA.2.12.1 และ BA.2 นั้นมีสัดส่วนการรระบาดลดลงเหลือ 1.9% และ 1.5% ตามลำดับ

 

ภาพรวมทั่วโลก จำนวนการเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยราว 3% โดยในยุโรปมีจำนวนการเสียชีวิตลดลงไป 26% ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกนั้นยังมีจำนวนเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย มีจำนวนเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 20%

 

ดังนั้นเราจึงเห็นธรรมชาติของการระบาดว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมนำไปสู่การติดเชื้อ และส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่การป่วย การเสียชีวิต และปัญหา Long COVID ในระยะเวลาต่อมา 
 

ปัญหา Long COVID ในออสเตรเลีย

 

Howe S และทีมงานจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวานนี้ 3 สิงหาคม 2565

 

ประเมินภาระโรคที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 และปัญหา Long COVID ในออสเตรเลีย โดยคำนวณจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

โอมิครอน BA.5 ล่าสุดระบาดแล้ว 69.6% ทั่วโลก

 

สาระสำคัญพบว่า จากการระบาดในยุค Omicron ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2564 จนถึงเมษายน 2565 นั้น โรคโควิด-19 ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิต เจ็บป่วย และพิการ คิดเป็นภาระโรคที่เทียบเท่ากับโรคสมองเสื่อม และปัญหาการติดยาเสพติด

 

ทั้งนี้หากพิจารณาจำนวนปีที่สูญเสียไปภาวะเจ็บป่วยและทุพพลภาพจาก Long COVID นั้น สูงมากถึง 74% หรือ 3 ใน 4 ของภาระโรคที่เกิดจากโรคโควิด-19 ทั้งหมด

 

งานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า Long COVID is real 

และเป็นปัญหาท้าทายในระยะยาวสำหรับผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือ มิใช่เฉพาะระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้คำปรึกษา ตรวจ วินิจฉัย ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพเท่านั้น

 

แต่ยังหมายรวมถึงกลไกสนับสนุนทางสังคม ทั้งเรื่องระบบการทำงาน การช่วยเหลือด้านการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

การติดเชื้อ ไม่จบชิลๆ แค่หาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และทุพพลภาพ เป็น Long COVID ได้

 

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเมื่อออกไปใช้ชีวิตประจำวัน เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก