กทม. จ่อยกเครื่องสูบน้ำใหม่ 190 สถานี หลังใช้งานมานานกว่า 15 ปี 

30 ก.ค. 2565 | 12:00 น.

ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. สั่งตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ 190 สถานี ชี้ หากจำเป็นก็ต้องเปลี่ยนหลังพบใช้งานมานานกว่า 15 ปี พร้อมกำชับเร่งขุดลอกคลอง เสริมกระสอบทรายอุดฟันหลอแนวเขื่อนริมเจ้าพระยา 

30 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และนายเจษฎา จันทรประภา รอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำบริเวณสถานีคลองสูบน้ำคลองบางซื่อ

 

โดยนายชัชชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ 4 แห่ง รับน้ำในพื้นที่ 20 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ มีคลอง 2,600 กว่าคลอง อุโมงค์เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการระบายน้ำแต่ปั๊มน้ำต้องทำได้ดี ขณะที่คลองต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะคือหัวใจสำคัญในการระบายน้ำ แต่ปัญหาของคลองในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีการขุดลอก โดยทั้ง 2 ระบบต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน

 

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการตรวจสถานีสูบน้ำ ปัจจุบันการระบายน้ำมี 2 ระบบ คือ ระบบคลองกับอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งรับน้ำ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ครอบคลุมระยะทางใน 20 กม. ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก แต่ระบบคลองคือหัวใจหลัก จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง โดยการขุดลอกคลองเพื่อพร่องน้ำในการเตรียมพร้อมรับน้ำ โดยเฉพาะหน้าประตูระบายน้ำอาจจะต้องขุดลอกให้ลึกเพื่อให้เป็นแก้มลิง 

สำหรับสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ปัจจุบัน มีเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้า 17 เครื่อง เพิ่งเปลี่ยนใหม่เพียง 5 เครื่อง เครื่องที่เหลือใช้งานมา 15 ปี ทั้งนี้ หากเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำพร้อมติดตั้งต้องใช้งบประมาณเครื่องละ 4 ล้านบาท ซึ่งใช้งบน้อยเมื่อเทียบกับโครงการอุโมงค์ยักษ์ ที่ใช้งบ 5-6 พันล้าน ดังนั้น ต้องสำรวจตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกจุด หากไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพต้องเปลี่ยน เพื่อให้เครื่องสูบน้ำทำงานเต็มประสิทธิภาพ พร้อมจัดหาแหล่งจ่ายไฟสำรองกรณีไฟดับ เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง


อย่างไรก็ตาม กทม.มีสถานีสูบน้ำ 190 สถานี หากจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องสูบก็ต้องทำ เครื่องสูบน้ำส่วนใหญ่มีอายุใช้งานเกิน 15 ปี หากเปลี่ยนเครื่องต้องมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลองซึ่งคลองบางซื่อไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี มีเพียงบางส่วนที่ขุดลอกทำให้พร่องน้ำได้ไม่เต็มที่

 

ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ ส่วนเครื่องเก็บขยะ มี 11 ตัว ใช้งานได้ 2 ตัว จึงใช้คนจัดเก็บแทน แต่ก็ต้องจัดหาเครื่องเก็บขยะมาด้วย ในส่วนนี้ได้กำชับให้เร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ

สำหรับภาพรวมเครื่องสูบน้ำ กทม. มี 733 ตัว ชำรุด 22 ตัว เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ 263 ตัว ชำรุด 63 ตัว ประตูระบายน้ำ 523 ประตู ชำรุด 14 ประตู ประสิทธิภาพในภาพรวมตามตัวเลขยังพอใช้ได้อยู่ หากปรับปรุงไม่ได้ใช้เงินเยอะ หรือเป็นโครงการขนาดใหญ่

 

หลังจากนี้จะดูว่างบประมาณปี 65 มีเพียงพอหรือไม่ หรือไม่ต้องแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 จะพยามยามใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้เงินน้อยแต่ได้ประโยชน์มากที่สุด อันไหนที่ยังไม่สำคัญ อุโมงค์ก็ชะลอไปก่อน ปรับปรุงประสิทธิภาพของคลองให้ดี เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาได้ จากนั้นจะทำเส้นเลือกฝอย ลอกท่อ ขยายท่อ ทำ Pipe Jacking ที่จำเป็นเพื่อเอาน้ำในซอยลงมาที่คลองให้ได้


พร้อมกันนี้นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือว่า ขณะนี้ประมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนขณะนี้ประมาณ 900 ล้าน ลบ.ม./วินาที ยังไม่ได้รุนแรงมาก ปีที่แล้วที่ท่วมหนัก แถวทรงวาด ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 2,200 ล้าน ลบ.ม./วินาที แต่เราสามารถแก้ปัญหาแต่ต้องไม่ประมาท เพราะแนวฟันหลอต่อให้น้ำมาไม่เยอะก็ท่วมได้ จึงต้องเตรียมกระสอบทรายไปเสริม 

 

ฟันหลอเกิดจากส่วนหนึ่งเอกชนไม่ให้สร้างเขื่อน เอกชนบอกว่ากลัวผิดฮวงจุ้ย ไม่อยากให้ทำ สุดท้ายน้ำก็มาท่วมทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นต้องฝาก บางทีต้องเสียสละเหมือนกัน อย่างน้อยก็ให้เราเรียงกระสอบทรายก่อน ตรงที่เป็นฟันหลอ ตรงทรงวาดก็มีอยู่เกือบ 200 เมตร  ช่วงนี้อาจไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามหรือฮวงจุ้ยมาก เอาชีวิตรอดก่อน จะได้ดูแลเพื่อนบ้านเราด้วย