ชำแหละ ปมพนักงานสอบสวนไม่รับร้องทุกข์ กดตัวเลขอาชญากรรมจากการ “รับส่วย”

25 ก.ค. 2565 | 08:45 น.

ชำแหละ ปมพนักงานสอบสวนไม่รับร้องทุกข์ กดตัวเลขอาชญากรรมจากการ “รับส่วย” เเนะต้องแก้กฎหมายให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบและควบคุมการสอบสวนคดีที่สำคัญ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวระหว่าง “โครงการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานอัยการจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาการสอบสวนและดำเนินคดี”  ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนที่มีฐานะยากจนได้รับความเดือดร้อนจากการสอบสวนคดีอาญาอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะปัญหาเรื่องพนักงานสอบสวนไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายโดยไม่ชักช้าตาม ป.วิ อาญามาตรา 130 อาจกล่าวได้ว่า ผู้เสียหายไปแจ้งความ 100 คดี จะมีการรับคำร้องทุกข์จริงไม่เกิน 5 คดีเท่านั้น

สาเหตุเป็นเพราะตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งอยู่ในระบบยศและการปกครองแบบทหาร ได้ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งการทั้งโดยตรงและทางอ้อมไม่ให้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนง่ายๆ เพื่อไม่ให้ตัวเลขสถิติอาชญากรรมที่เกิดจากการ “รับส่วย” ในแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบสูงขึ้น

นอกจากนั้น การสอบสวนคดีสำคัญๆ ก็มีปัญหา ประชาชนไม่เชื่อถือว่าตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนหรือไม่ถูกบิดเบือน ซึ่งประชาชนทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาจะหวังพึ่งอัยการก็ไม่ได้ เพราะแม้สามารถหาพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ก็ไม่กล้าให้ตำรวจ และก็ไม่รู้ไปให้อัยการได้อย่างไร กับใคร และช่วงเวลาใดก่อนที่จะได้รับสำนวนจากตำรวจ!

 

ทำให้หลายคดี พยานหลักฐานที่สำคัญเหล่านี้กลายเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาไม่ว่าในชั้นอัยการหรือศาล หมายความว่า ได้มีความเสียหายต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ได้กระทำอย่างครบถ้วนก่อนที่อัยการจะสั่งคดี

 

เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่สำคัญก็คือ จะต้องแก้กฎหมายให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบและควบคุมการสอบสวนคดีที่สำคัญหรือเมื่อได้รับการร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน

 

เช่นเดียวกับระบบการสอบสวนคดีอาญาในนานาอารยประเทศทั่วโลก แต่ขณะนี้ การแก้ไขเพิ่มกฎหมายในเรื่องการสอบสวนเป็นไปได้ยาก แม้จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้ง่าย แต่ก็มีกลุ่มตำรวจผู้ใหญ่หัวโบราณที่เป็นวุฒิสมาชิกแต่งตั้งคอยขัดขวางอยู่ทุกวิถีทาง ทั้งอัยการและประชาชนจึงต้องรอให้วุฒิสภาแต่งตั้งชุดนี้หมดวาระ หรือบางคนอาจจะตายไปตามอายุขัยและสังขาร การแก้ไขกฎหมายก็ทำได้ไม่ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดสามารถแก้ปัญหาเท่าที่สามารถทำได้ โดยอาศัยตามอำนาจ พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ในการค้นหาความจริงเพื่อความยุติธรรม โดยต้องออกคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญ ขึ้นในส่วนกลาง ดำเนินการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานคดีสำคัญไว้ในทันทีที่เกิดเหตุตามคำสั่ง อสส. ประสานการปฏิบัติกับอัยการจังหวัดและพื้นที่ โดยมีเจ้าพนักงานคดี ผู้มีความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์และกฎหมาย เป็นผู้ช่วยในการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากหน่วยงานที่ร่วมทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ไว้ ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวช รวมทั้งความร่วมมือจากมูลนิธิและอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัยต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังสามารถเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลหรือเบาะแสพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดคดีอาญาสำคัญต่างๆ ให้อัยการทราบและเก็บรวมไว้ก่อนที่จะได้รับสำนวนการสอบสวนจากตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย