รื้อโครงสร้าง "ข้าราชการ" เปิดข้อเสนอ คุมกำลังคน-ลดงบบุคลากร

15 ก.ค. 2565 | 07:47 น.

เปิดข้อเสนอรื้อโครงสร้าง "ข้าราชการ" หลัง สำนักงาน ก.พ. รายงานข้อมูลครม. พร้อมแนะนำการบริหารอัตรากำลังของภาคราชการ ที่มีจำนวนมาก และใช้งบประมาณดูแลสูง ไปดูกันว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนักอกครั้งนี้จะมีทางออกยังไงทั้งการคุมกำลังคน และการลดงบบุคลากร

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทย ส่วนใหญ่มักนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะ "ข้าราชการ" ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความมั่นคงกับการใช้ชีวิต จนทำให้ในแต่ละปีมีผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการจำนวนมาก

 

จากข้อมูลสถิติประชากรในประเทศ ปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงาน ในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.91 ล้านคน ประกอบด้วย 

  • ข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน 
  • ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.23 ล้านคน

ขณะที่แนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคล จากข้อมูลสถิติการคลัง ได้รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 รวมทั้งสิ้น 3.01 ล้านล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ คิดเป็น 36.4% ของรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.09 ล้านล้านบาท 

 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้จัดทำรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ เสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ 

 

ผ่างบข้าราชการ ไม่เกิน 10 ปี เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ แซงงบบุคลากร

 

ทั้งนี้มีข้อเสนอที่น่าสนในเกี่ยวกับการบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้

1.ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการบริหารอัตราว่างให้แล้วเสร็จ โดยเร็วภายใน 1 ปี โดยดำเนินการสรรหา สอบคัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในอัตรากำลังที่ว่างอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนและมีกำลังคนเข้าสู่ระบบแรงงาน ในประเทศเพิ่มขึ้น

 

โดยจากการสำรวจข้อมูลอัตราว่างข้าราชการของส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของ คปร. เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 173 ส่วนราชการ พบว่ามีจำนวนอัตราว่าง รวม 68,593 อัตรา ประกอบด้วย 

  • อัตราว่างที่ส่วนราชการมีแผนการบริหารจัดการแล้ว (กันไว้เพื่อสรรหา บรรจุแต่งตั้ง รับโอน เลื่อน ) จำนวน 53,267 อัตรา 
  • อัตราว่างคงเหลือจริง จำนวน 15,326 อัตรา

 

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในภาพรวมจะมีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ ของทุกส่วนราชการ รวม 9,705 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งที่จะต้องยุบเลิกเพื่อทดแทนด้วย กรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ประมาณ 1,306 อัตรา และคงเหลืออัตราว่างระดับแรกบรรจุที่สามารถ บรรจุได้ทันทีประมาณ 4,697 อัตรา

 

2.ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมอัตรากำลังบุคลากร และภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ โดยการพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจ และโครงสร้างองค์กรภาครัฐและกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม 

 

โดยขอให้เน้นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Goverment) ควบคู่กับการปรับรูปแบบและวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับลักษณะงาน โอนงานบางประเภทให้เอกชนดำเนินการ หรือ Outsourcing และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจที่สามารถ มอบหรือกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ รวมทั้งเน้นการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐในระยะยาว 

 

นอกจากนี้ หากส่วนราชการ มีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่ม ควรต้องมีการวางแผนกำลังคนเพื่อลดการเพิ่ม กำลังคนที่ซ้ำซ้อน และอาจสนับสนุนอัตรากำลังในรูปแบบสัญญาจ้างรายปี ในลักษณะของพนักงานราชการ เฉพาะกิจไปก่อน หากในระยะยาวส่วนราชการพิสูจน์ได้ว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนในรูปแบบ ข้าราชการ จึงจะพิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นของภารกิจ

 

โดยให้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้ชัดเจนว่า หากส่วนราชการใดมีการปรับปรุงบทบาทภารกิจที่ต้องมีการตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการหนึ่งไปให้อีกส่วนราชการหนึ่ง จะต้องตัดโอนอัตรากำลังและงบประมาณตามภารกิจนั้นไปให้ส่วนราชการ ที่รับโอนภารกิจด้วย เพื่อไม่ให้ส่วนราชการมีการใช้กำลังคนและงบประมาณที่ซ้ำซ้อน

 

เจาะเบื้องลึก ข้าราชการไทย ทหาร ตำรวจ ครู เพิ่มขึ้นแค่ไหน ในรอบ 10 ปี

 

3.ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ทุกภาคส่วนนำแนวทางการบริหารอัตรากำลังของ คปร. ไปปรับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้การกำกับดูแล การควบคุมขนาดกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การลดขนาดกำลังคนภาครัฐและแผนการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของประเทศบรรลุตามเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ได้

 

4.ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไป โดยกำหนดให้มีการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐไว้ระยะหนึ่ง รวมทั้งเข้มงวดกับการพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ของส่วนราชการอย่างจริงจัง เพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของภาครัฐที่มีอัตราอยู่ในระดับสูงมาก

 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่จริงจัง และเร่งด่วนในการปรับลดขนาดกำลังคนภาครัฐและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว 

 

นอกจากนี้ การพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่อาจต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในภารกิจที่เกี่ยวข้องตามคำขอของส่วนราชการมาให้ความเห็น เพิ่มเติม เพื่อให้การจัดสรรอัตรากำลัง โดย คปร. เป็นไปอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการจัดสรรอัตรากำลัง

 

5.ให้ส่วนราชการที่มีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ทั้งอัตราข้าราชการ และพนักงานราชการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ. ทบทวนคำขอให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่อย่างเคร่งครัด โดยจะต้องทบทวนความจำเป็นของภารกิจ การกำหนดตัวชี้วัด ผลผลิตและผลลัพธ์ที่ท้าทายและเป็นรูปธรรม 

 

รวมทั้งมีแผนการปรับปรุง กระบวนการทำงานมีการเกลี่ยอัตรากำลังภายในส่วนราชการ ทั้งระดับกรมและกระทรวง และมีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน เพื่อทดแทนการใช้กำลังคน รวมทั้งมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย เหมาะสมกับภารกิจ เพื่อประกอบการพิจารณาของ คปร. และครม. ต่อไป