“ฉีดไข่ให้ฝ่อ” ยังไงดี? สรุปร่างกม.ฉีดไข่ฝ่อ แบบเข้าใจง่ายๆ

12 ก.ค. 2565 | 07:35 น.

ร่างกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ ป้องกันกระทำผิดซ้ำ ผ่านที่ประชุมวุฒิสภา สรุปสาระสำคัญร่างกม.ฉีดไข่ฝ่อ แบบเข้าใจง่ายๆ

วุฒิสภา ผ่านฉลุย “ร่างกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ” ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง หรือที่เรียกว่าร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ… มีจำนวน 43 มาตรา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

โดยเฉพาะมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย(ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด (มาตรา21) มีส.ว.ให้ความสนใจอภิปรายหลายคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่

มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ฉีดให้ฝ่อกันเลยเหรอ ? นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาไม่ได้หมายถึงทำให้ไข่ฝ่อ แต่เป็นยาลดฮอร์โมนทางเพศ เพื่อช่วยให้คนที่ไม่ได้อยากทำผิด แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องยินยอมให้ฉีดจึงจะทำได้ แล้วจะมีคนยินยอมให้ฉีดหรือไม่นั้น เชื่อว่ามีคนยินยอม โดยคนที่ยินยอมให้ฉีดคือ คนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะยินยอมให้ฉีด รวมถึงถ้ายินยอมให้ฉีดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง ทำให้มีโอกาสได้รับความยินยอม

สรุปร่างกฎหมายฉีดไข่ฝ่อให้เข้าใจง่ายๆ

ร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับกับการกระทำความผิดอาญาทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

  • ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา กระทำชำเราเด็ก อนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย อนาจารเด็ก พาเด็กไปเพื่อทำอนาจาร พาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
  • ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่นตาย ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นอันตรายสาหัส
  • ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น ความผิดฐานลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่

 

ร่างกฎหมายฉีดไข่ฝ่อ ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ 4 มาตรการ

  1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
  2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
  3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
  4. มาตรการคุมขังฉุกเฉิน

 

ซึ่งการฉีดไข่ฝ่อจะอยู่ในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด เป็นมาตรการขั้นแรกสุดในการดำเนินการกับผู้ที่มีความเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำ โดยในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูฯ  ก็แยกย่อยมาตรการออกไปอีก คือ มาตรการทางการแพทย์

 

เเละมาตรการอื่นใด ตามที่รัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันการทำความผิดซ้ำกำหนด ซึ่งมาตราการนี้ยังคงไม่มีรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร เสมือนเปิดเอาไว้เพื่อให้รัฐมนตรีกำหนดเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขฟื้นฟูได้หลังร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ผ่านการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญัติและมีผลใช้บังคับแล้ว

 

ก็มีคำถามจาก พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า  “กฎหมายระบุไว้เป็นอย่างอื่น”คืออะไร เพราะเหมือนเขียนแบบตีเช็กเปล่า เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดถูกฉีดยา แม้ไม่ยินยอมก็ตาม

 

ข้อกำหนดการฉีดไข่ฝ่อ

  • ให้ต้องใช้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์ที่มีใบอนุญาต) 2 คนขึ้นไป
  • ต้องเห็นตรงกันในเรื่องขั้นตอนและวิธีการรักษา จึงจะสามารถดำเนินกระบวนการรักษาได้
  • หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดที่เข้ารับการรักษายินยอมด้วย
  • กรมราชทัณฑ์สามารถนำผลของการรักษาตามมาตรการทางการแพทย์ มาใช้พิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้

 

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ที่ประชุมฯ วุฒิสภา วานนี้ (11 ก.ค.) ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 137 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียงและหลังที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางพิจารณาครบทั้ง 43 มาตราแล้ว ได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบด้วยคะแนน 145 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป