ข่าวดี!วัคซีนโควิดรับมือโอมิครอน BA.4/BA.5 ได้ ต้องฉีดยังไง ชนิดไหน เช็คเลย

10 ก.ค. 2565 | 00:11 น.

ข่าวดี!วัคซีนโควิดรับมือโอมิครอน BA.4/BA.5 ได้ ต้องฉีดยังไง ชนิดไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชับเผยผลการศึกษาจากประเทศอังกฤษ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวดีเบื้องต้น วัคซีนโควิดสามารถรับมือไวรัส BA.4/BA.5 ได้ดีพอๆกับ BA.2 เป็นผลการศึกษาจากอังกฤษ

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โลกเราได้เข้าสู่การระบาดของไวรัส Omicron (โอมิครอน) ที่เข้ามาทดแทนไวรัสสายพันธุ์ Delta (เดลตา) อย่างรวดเร็ว

 

และในเดือนที่ผ่านมา ไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ได้เริ่มเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยเข้ามาทดแทนสายพันธุ์หลักเดิมคือ BA.2

 

มีข้อมูลจากการศึกษาหลายรายงานด้วยกัน เป็นผลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ย่อยกลายพันธุ์ใหม่ BA.4/BA.5 ดื้อต่อวัคซีน มากกว่าไวรัสสายพันธุ์ BA.2 นอกจากความสามารถในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่เพิ่มขึ้นแล้ว

ทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 ซึ่งฉีดกันอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถรับมือไวรัส BA.4/BA.5 ได้

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข่าวล่าสุด เป็นการศึกษาเบื้องต้นของอังกฤษ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ของวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่

 

พบข่าวดีว่า ไวรัสกลายพันธุ์ BA.4/BA.5 ในโลกแห่งความเป็นจริง (Real-World) ไม่ได้ดื้อต่อวัคซีนมากกว่าไวรัส BA.2

 

ซึ่งแตกต่างจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ (Laboratory)

 

โดยเป็นการวิเคราะห์ตัวเลขในช่วงวันที่ 18 เมษายนถึง 23 มิถุนายน 2565 พบว่าสถานภาพของวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ BA.4/BA.5 อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ BA.2

 

วัคซีนโควิดรับมือโอมิครอน BA.4/BA.5 ได้

 

ดังนั้นจึงถือว่าเป็นข่าวดีในเบื้องต้น ที่พบว่าไวรัสกลายพันธุ์ BA.4/BA.5 ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้ดื้อวัคซีนมากไปกว่า BA.2

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไวรัส Omicron ไม่ว่าสายพันธุ์ใด ก็ล้วนแต่ดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์ไวรัสสายพันธุ์เดิมคือ Delta

 

ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่จะผลิตบนสารพันธุกรรมของไวรัส Omicron โดยตรง จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน

โดยเฉพาะถ้าเป็นวัคซีนหลายสายพันธุ์ ก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้น

 

ส่วนสถิติอื่นที่สำคัญของรายงานการศึกษาครั้งนี้พบว่า เมื่อใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็น AstraZeneca , Pfizer , Moderna เป็นเข็มกระตุ้นที่ 3  (ไม่ว่าสองเข็มแรกจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม) ล้วนได้ผลดีในการกระตุ้นเท่าเทียมกัน

 

และการฉีดวัคซีนเข็ม 3 นั้นจะ มีภูมิคุ้มกันอยู่ไปได้ประมาณ 6 เดือนแล้วภูมิคุ้มกันก็จะลดลง จำเป็นที่จะต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 4 ต่อไป

 

ดังนั้นผู้ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วควรฉีดกระตุ้นเข็ม 4 ไม่ช้ากว่า 6 เดือน

 

ในประเทศไทย กำหนดให้ฉีดเข็ม 4 ห่าง 4 เดือน ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เหมาะสมดี

 

ในอังกฤษเองมีการฉีดวัคซีนน้อยกว่าประเทศไทยคือ เข็มหนึ่งฉีดได้ 70.2% เข็มสอง 66.0% และเข็มสาม 52.0%

 

โดยเข็มหนึ่งและเข็มสอง ฉีดได้น้อยกว่าประเทศไทย ส่วนเข็มสามฉีดได้มากกว่าไทย