รู้ทันไข้เลือดออก อาการแบบไหนเข้าข่าย-วิธีป้องกันมีหรือไม่

15 มิ.ย. 2565 | 11:55 น.

รู้หรือไม่ว่า วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น“วันไข้เลือดออกอาเซียน” เช็คเลยโรคนี้มีความสำคัญอย่างไร และลักษณะอาการของโรคแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นไข้เลือด พร้อมแนะแนวทางวิธีการป้องกัน

ปัญหาของไข้เลือดออก มิใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศในแถบอาเซียน หรือรวมทั้ง 10 ประเทศต่างก็ต้องพบกับปัญหานี้ในทุกปี ดังนั้นเพื่อเป็นการตระหนักและรณรงค์หาวิธีการป้องกัน จึงมีการลงมติให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day)

 

สำหรับหลักการและเป้าหมายที่ต้องการคือ“อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN Unity for Dengue-Free Community)โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมพึงประสงค์ คือ การเก็บ มุ่งเน้นวิธีการป้องกันด้วยวิธีทางกายภาพที่ทำได้ด้วยตนเองโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย 

วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น“วันไข้เลือดออกอาเซียน”
 


ในส่วนของประเทศไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก 2 ราย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าเป็นไข้เลือดออก จึงไปคลินิกหรือซื้อยามากินเอง ซึ่งหากเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงขอย้ำให้ทุกบ้านหมั่นสังเกตอาการ หากมีคนในบ้านป่วยมีไข้สูงลอยติดต่อกัน 2 วัน ให้นึกถึงทั้งโรคโควิด 19 หรืออาจเป็นไข้เลือดออก หากกินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องและป้องกันอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้  

 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุว่า นอกจากจะต้องระวังโรคโควิด 19 แล้ว ประชาชนยังควรระวังโรคไข้เลือดออกอีกโรคหนึ่งด้วย เนื่องจากการคาดการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565  คาดว่าจะกลับมาระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไป 2 ปี ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19

 

เนื่องจากประชาชนอยู่บ้านไม่ได้มีกิจกรรมรวมตัวกัน แต่การกลับมาระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง โดยที่ภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง 

รู้จักโรคไข้เลือดออก มีอาการแบบไหน 

  • อาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรงอาจมีภาวะช็อคและเสียชีวิตได้

 

ข้อแนะนำ หากสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นไข้เลือดออก

  • ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและรวดเร็ว 

 

วิธีป้องกันเบื้องต้น 

ขอให้ทุกบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยหลักการ 3 เก็บ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ดังนี้ 


1.เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก  


2.เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดบริเวณรอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้ 


3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ