เตือน! มะเร็งปอดเสี่ยงเป็นได้แม้ไม่เคยสูบ-หยุดสูบบุหรี่นาน

06 มิ.ย. 2565 | 02:24 น.

เตือน! มะเร็งปอดเสี่ยงเป็นได้แม้ไม่เคยสูบ-หยุดสูบบุหรี่นาน หมอมนูญชี้ประชาชนไทยจำนวนมากยังขาดความตระหนักรู้ด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปอด

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

“รู้หรือไม่ คุณอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด แม้ไม่เคยสูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่มานานแล้ว?”

 

ประชาชนไทยจำนวนมากยังขาดความตระหนักรู้ด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปอด 
ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายซึ่งมักมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ 

 

หากเจอมะเร็งปอดในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียง 0-10% เท่านั้น

 

ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ซึ่งก็คือ ‘ระยะเริ่มต้น’ ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงถึง 53-92% 

 

แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นเพียงแค่ 15% เท่านั้น 

ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ สูบบุหรี่ หายใจควันบุหรี่มือสอง ควันธูป ควันจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง

 

ควันจากเตาถ่านในการหุงต้มปิ้งย่าง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ก๊าชเรดอน สารเคมีก่อมะเร็ง แร่ใยหิน โลหะหนัก 

 

รวมถึงฝุ่น PM2.5  มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด เคยมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นหรือเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับปอดเช่นโรคถุงลมโป่งพอง พังผืดในปอดมาก่อน จึงควรใส่ใจสัญญาณเตือนด้านสุขภาพ 

 

เตือน! มะเร็งปอดเสี่ยงเป็นได้แม้ไม่เคยสูบ-หยุดสูบบุหรี่นาน

 

หากสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเป็นต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด 

 

วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan มีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า 
 

ส่งผลให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20% National Comprehensive Cancer Network (NCCN) ระบุว่ากลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

 

และมีประวัติการสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack-year ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปี ด้วย Low dose CT Scan 

 

ในขณะที่ผู้ที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอเข้ารับตรวจคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวได้เช่นกัน 

 

เพราะมะเร็งปอดคร่าชีวิตคนไทยปีละ 2 หมื่นกว่าคน ถือเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามร่างกายอย่างเงียบๆ และอาจพรากชีวิตคนที่คุณรักไปอย่างไม่มีวันกลับ