สธ. ยันผู้ป่วยฝีดาษลิงเดินทางพักเครื่องที่ไทย 1 ราย สัมผัสเสี่ยง 12

30 พ.ค. 2565 | 08:13 น.

สธ.ยืนยันวันนี้ (30 พ.ค.) พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) 1 รายเดินทางพักเครื่องที่ไทย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด 12 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามอาการ ส่วนผลตรวจผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง 5 รายที่ภูเก็ต พบเป็นเพียงโรคเริม

30 พ.ค. 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบ ผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย มีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย  ทำให้มี ผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้นทั้ง 12 ราย ยังไม่มีอาการ

 

ขณะที่มีการรายงานข้อมูลผู้ป่วยเข้าข่ายอาการ 5 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย เป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้าไทยเพื่อมาเรียนมวยไทยที่จ.ภูเก็ต เบื้องต้นพบว่าทั้ง 3 คน มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง คือมีตุ่มนูนใสตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันว่า ทั้ง 3 คนเป็นเพียงโรคเริมเท่านั้น

 

หลังการสอบสวนโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) รายดังกล่าว ทำให้มีผู้ป่วยเข้าข่ายอีก 2 รายที่ใช้บริการยิมร่วมกับผู้ป่วย 3 รายแรก จากการใช้อุปกรณ์ในยิมร่วมกัน โดยผลตรวจจากห้องแล็บ ก็เป็นโรคเริมเช่นกัน  จากกรณีดังกล่าวทำให้มีผู้สัมผัสใกล้ชิด 20 ราย เป็นผู้สอน และคนที่เข้ามาเล่นในยิม เบื้องต้นผู้ป่วยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

ขณะนี้ ทั่วโลกมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงใน 32 ประเทศ ซึ่งมีรายงานยอดผู้ป่วยทั้งหมด  406 ราย และผู้ต้องสงสัยเข้าข่าย 88 ราย ประเทศที่พบการระบาดหนัก 5 ประเทศนอกทวีปแอฟฟริกา คือ

  • อังกฤษ
  • เยอรมนี
  • สเปน
  • โปรตุเกส
  • แคนาดา

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สธ. ยืนยันยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย

สถานการณ์ฝีดาษลิง

แนวทางการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

กระทรวงสาธารณสุขได้นิยามผู้ป่วยสงสัย คือ อาการมีไข้  เจ็บคอ  มีไข้  ต่อมน้ำเหลืองโต  มีผื่นตุ่มนูน บริเวณแขนขา และใบหน้า และมีประวัติเชื่อมโยงกับระบาดวิทยา ภายในระยะเวลา 21 วัน หรือกิจกรรมที่มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือนำเข้าจากแอฟฟริกา

 

ส่วนผู้ที่เข้าข่ายสงสัย ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด คือ

  • สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือ สัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่นเสื้อผ้าผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เช่น อาศัยอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย หรือ ใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
  • ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ2เมตร

 

หากพบผู้ป่วยในประเทศไทยจะต้องได้รับการยืนยันจากผลห้องปฏิบัติการก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ตามอาการและแยกกักตัว จนครบ 21 วัน

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ฝากถึงแพทย์ หากพบผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการ เข้าข่ายโรคฝีดาษลิงสามารถแจ้งยืนยันกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทันที เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นโรคฝีดาษลิงมาก่อน เพราะหายไปจากประเทศไทยนานมาก จึงไม่สามารถคัดกรองอาการด้วยการแยกลักษณะตุ่มหนองที่เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องใช้การตรวจหาเชื้อRT-PCR จากห้องปฏิบัติการเท่านั้น