“ชาญชัย” ชี้ “ชัชชาติ” พูดไม่หมด ปมคิดมูลค่าโครงการสุวรรณภูมิเอื้อเอกชน

21 พ.ค. 2565 | 03:35 น.

“ชาญชัย”​ ยกคำพิพากษาศาล-คำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ สวน “ชัชชาติ” อย่าอ้างไม่เกี่ยวคิดมูลค่าโครงการสุวรรณภูมิเอื้อเอกชน ปูด ทอท.จ้าง แต่เอกชนจ่ายค่าปรึกษา แถม “ทีมชัชชาติ” ชงให้สัมปทานเอกชนรายเดียวกัน 10 ปี

จากกรณีที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย inside thailand เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 ยืนยันว่า เป็นเพียงวิศวกรโครงสร้าง ไม่เกี่ยวข้องกับกับการประเมินมูลค่าโครงการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการจากการชุมนุมทางการเมืองในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับรัฐ ที่ถูกร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร นั้น

 

วันนี้ (21 พ.ค.65) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก และอดีตรองประธานอนุ กมธ.ด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต ใน กมธ.วิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แสดงความเห็นว่า นายชัชชาติจะกล่าวอ้างอย่างไรก็ได้ แต่เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรอยู่ในสัญญาจ้างระหว่างบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) กับสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สถาบันฯ) ที่มีการระบุชื่อ และหน้าที่รับผิดชอบของนายชัชชาติไว้อย่างชัดเจน 
 

ส่วนจะอ้างว่าเป็นแค่วิศวกรโยธาและโครงสร้างสนามบิน ไม่ได้เป็นคนคิดคำนวณมูลค่า ก็ต้องถามว่าแล้วค่าอิฐ หิน ปูน ทราย ค่าก่อสร้าง เท่าไร ใครจะเป็นผู้คำนวณถ้าไม่ใช่วิศวกรโครงสร้าง อีกทั้งยังขัดกับแนวทางคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาก็ระบุไว้ชัดว่า การคำนวณโครงการลักษณะนี้ ห้ามนำค่าเสื่อมมาหักทอนมูลค่า รวมไปถึงรายงานของสถาบันฯในฐานะที่ปรึกษายังระบุด้วยว่า ควรให้สัมปทานแก่เอกชนรายเดียวเป็นระยะเวลา 10 ปีอีกด้วย

 

“คุณชัชชาติเองย่อมรู้แก่ใจว่า การคิดค่าอิฐ หิน ปูน ทราย เป็นงานที่เกี่ยวกับวิศวกรโครงสร้างโดยตรง แต่การยอมรับว่า เป็นผู้เข้าไปรับจ้าง โดยใช้ชื่อสถาบันฯก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะในคำพิพากษาศาลฎีการะบุชัดว่า มีการประเมินมูลค่าโครงการต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณชัชชาติอ้าง ไม่น่าจะเป็นคำแก้ตัวได้” นายชาญชัย ระบุ

นายชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือในสัญญาจ้างที่ ทอท.เป็นผู้จ้างสถาบันฯ แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า เอกชนเป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง เมื่อปรากฎว่า คณะกรรมการ ทอท.ขณะนั้น นำรายงานของสถาบันฯเป็นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดจ้างวิธีพิเศษ และยกสัมปทานให้กับเอกชนรายเดียวกัน โดยไม่มีการประมูลใดๆทั้งสิ้น 

 

จึงเป็นที่มาของการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบทั้งในชั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การทำหน้าที่ของสถาบันฯเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือไม่ รวมถึงเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันหรือไม่ และเข้าข่ายผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ) หรือไม่ 

 

แต่ที่ชัดเจนกว่าคือในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า การประเมินมูลค่าโครงการต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ด้วย ซึ่งก็ตรงกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย ที่มองว่ากรณีนี้ผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ

 

ส่วนกรณีที่นายชัชชาติระบุว่า ป.ป.ช.ยกคำร้องไปแล้ว และไม่เคยเชิญนายชัชชาติไปสอบสวนแต่อย่างใดนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า ทั้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุตรงกันว่า การประเมินมูลค่าโครงการต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เป็นข้อหักล้างว่ามติของ ป.ป.ช.เสียงข้างมากที่ให้ยกคำร้องนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) 

 

ซึ่งเป็นกฎหมายของ ป.ป.ช.เอง อีกทั้งการที่นายชัชชาติเปิดเผยว่าไม่เคยถูกเรียกไปสอบ ก็เป็นการตอกย้ำว่า สำนวนของ ป.ป.ช.ที่ยกคำร้องนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะสาระสำคัญของข้อกล่าวหามีการระบุถึงสภาบันฯ ตลอดจนตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า เป็นผู้ทำให้มูลค่าโครงการต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และเป็นผู้กำหนกว่า ควรให้สัญญา 10 ปีแก่เอกชนรายเดียว หลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในทีโออาร์ จึงต้องถามว่า  เหตุใด ป.ป.ช.จึงไม่เรียก ชัชชาติ และคณะเข้าไปสอบ

 

“คำพิพากษาศาลฎีกาถือว่ามีศักดิ์ใหญ่กว่ามติ ป.ป.ช. ตรงนี้ถือว่า ป.ป.ช.ขณะนั้นผิดพลาดอย่างร้ายแรง และกระทำผิดกฎหมายของตัวเอง เป็นเหตุให้ผมจะยื่นฟ้อง ป.ป.ช.เสียงข้างมาก ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในเร็วๆนี้ด้วย เพราะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ นำมาซึ่งสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเสียหายมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวคุณชัชชาติก็อ้างอ้างมติ ป.ป.ช.เป็นที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะต้องยึดคำพิพากษาศาลฎีกา” นายชาญชัย กล่าว

 

นายชาญชัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายชัชชาติระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2551 สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับว่า ยืยันว่านายชัชชาติมีส่วนในการคิดคำนวณค่าเยียวยาที่สูงเกินจริง จน ครม.ต้องตีกลับมาให้ ทอท.คำนวณใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และต้องไม่เกิดความเสียหายที่เป็นภาระ แต่ ทอท.ไม่เสนอกลับไปที่ ครม.อีกครั้ง และเลือกที่ไปลดรายได้ของตัวเองแทน 

นำมาซึ่งการลด/เลื่อนสัญญาหลายครั้งที่ก่อความเสียหายให้ ทอท.นับหมื่นล้านบาท ในการชี้แจงมูลค่าค่าเยียวยานั้น ก็ปรากฎชื่อนายชัชชาติแสดงตนเพียงคนเดียว ในฐานะสถาบันฯ โดยในรายงานการประชุม นายชัชชาติมีความเห็นแย้ง ครม.โดยยืนยันว่า ต้องคิดค่าเสียหาย 365 วัน จากที่สนามบินภูมิปิดเพียง 10 วัน เพราะทึกทักเอาเองว่ากล่าวผู้โยสารต่างชาติจะเดินทางกลับมาไทยต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้มีการเยียวยาโดยเลื่อนสัญญากับเอกชนไปอีก 2 ปี รายได้ ทอท.ขาดหายไปมหาศาล และทุกครั้งที่มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ ทอท.ก็จะหยิบยกคำปรึกษาของสถาบันฯ มาตลอดกว่า 14 ปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะเมื่อปี 63 ที่มีการลด/เลื่อนสัญญาครั้งหลังสุด โดยที่ไม่ต้องผ่าน ครม.

 

“ในรายงานการประชุมมีชื่อคุณชัชชาติเป็นตัวแทนสถาบันฯ เป็นเอกสารหลักฐานทางราชการว่า คุณชัชชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องมากล่าวหากันลอยๆ และเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจากคำพิพากษาศาลฎีกา” นายชาญชัย ระบุ

 

นายชาญชัย ยังได้กล่าวด้วยว่า ได้ติดตามการดีเบตหาเสียงผู้ว่าฯกทม.ในหลายเวที ที่เมื่อมีคำถามถึงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติก็มักจะหยิบยก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯขึ้นมากล่าวถึงเสมอ แต่กลับพบว่าในอดีตนายชัชชาติกลับมีพฤติกรรมหลายเรื่องที่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 

 

โดยสมัยที่ตนไปมีส่วนร่วมกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ ก็ได้รับข้อมูลจากอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน ที่ไปหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆ และมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชน หรือฝ่ายการเมือง นำมาสู่การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ ในสมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อคัดกรองคุณวสมบัติของสถาบันหรือบริษัทที่ปรึกษาให้เข้มงวดมากขึ้น

 

“หลายมหาวิทยาลัยถูกอาจารย์บางคนเอาชื่อไปหากิน ทำให้เกิดการหลบเลี่ยงกฎหมาย จนเป็นประเด็นทุจริตจำนวนมาก เป็นที่มาของการแก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างที่เข้มงวดในส่วนของบริษัทที่ปรึกษามากขึ้น” นายชาญชัย กล่าว.

 

นายชาญชัย กล่าวย้ำด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการตรวจสอบการทุจริต และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ กับผู้ถือหุ้น ทอท. รวมถึงกับประชาชน จึงจำเป็นต้องหาผู้รับผิดชอบที่เกิดขึ้นมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ ทอท.สูญเสียรายได้มหาศาล ซึ่งเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ตนได้ยื่นหนังสือไปหลายครั้ง ปล่อยปละละเลยไม่ทวงถาม ผมที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ และทวงถามเองให้ถึงที่สุด.