"ฝีดาษลิง" ยังไม่พบในไทย เฝ้าระวังผู้เดินทางจากแอฟริกา-สัตว์ต่างถิ่น

20 พ.ค. 2565 | 02:35 น.

"ฝีดาษลิง" หรือ "ฝีดาษวานร" ไม่ใช่โรคใหม่ แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกา ไม่เคยพบในประเทศไทย เฝ้าระวังผู้เดินทางจากแอฟริกา-สัตว์ต่างถิ่น

เวลานี้คงจะได้ยิน “โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)” ที่มีการพบผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร โปรตุเกส ล่าสหรัฐอเมริกาที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากแคนาดา นอกจากนี้ยังพบผู้มีอาการของโรคที่สเปนโดยมีทั้งเคสที่ยืนยันและต้องสงสัย หลายคนมีความสงสัยว่า โรคนี้มีความรุนแรง การระบาดเป็นอย่างไร

ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า "ฝีดาษลิง" หรือ "ฝีดาษวานร" ไม่ใช่โรคใหม่ พบครั้งแรกในลิงปี พ.ศ.2501 และพบในคนตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกา ย้ำไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่ต้องตื่นตระหนก การติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด

"ฝีดาษวานร" คล้ายกับโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่ความรุนแรง และการแพร่ระบาดได้น้อยกว่าฝีดาษมาก การติดต่อทราบกันดีว่า คนจะติดมาจากสัตว์ เช่น ลิง สัตว์ตระกูลฟันแทะ กลุ่มหนูในแอฟริกาและกระรอก มีแหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง การพบนอกแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากแอฟริกา และหรือสัมผัสกับสัตว์ที่นำมาจากแอฟริกา

 

การติดต่อระหว่างคนสู่คนเป็นไปได้ แต่ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น สัมผัสกับ น้ำใส ตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่ง ใช้เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่

 

ในอดีตที่ผ่านมายังไม่พบการระบาดใหญ่ พบเป็นกลุ่มในแอฟริกา เป็นรายราย ในยุโรปและอเมริกา เคยมีรายงานผู้ป่วยในสิงคโปร์ ในอังกฤษครั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังต้องรอการยืนยัน ขณะที่เชื้อไวรัสเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษ น่าจะป้องกันโรคนี้ได้ คงต้องรอการพิสูจน์

 

ฝีดาษวานร ไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก การติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด ส่วนการเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย