โควิดวันนี้ยอดติดเชื้อเป็นขาลงแล้วจริงหรือไม่ ดูจากอะไร อ่านเลยที่นี่

16 พ.ค. 2565 | 02:31 น.

โควิดวันนี้ยอดติดเชื้อเป็นขาลงแล้วจริงหรือไม่ ดูจากอะไร อ่านเลยที่นี่ หมอเฉลิมชัยสรุปข้อมูลตัวเลขสถิติติดตามสถานการณ์โควิดระลอกมกราคม 2565

โควิดวันนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชน ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน และผู้เสียชีวิต

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

โควิด-19 (Covid-19) ไทยเดินหน้าขาลงชัดเจน ผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับเดียวกับตอนเริ่มขาขึ้นเมื่อต้นมกราคม 2565 ผู้เสียชีวิตลดลงราวครึ่งหนึ่ง (50%)

 

การติดตามดูสถานการณ์โควิดระลอกมกราคม 2565 ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นใดนั้น
จำเป็นจะต้องดูสถิติหลายตัวประกอบกัน รวมทั้งต้องดูข้อจำกัดต่างๆ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรายงาน ตลอดจนปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้รับการตรวจ และจำนวนการรายงานลดลง ประกอบด้วย

 

1) จำนวนผู้เสียชีวิต มีการปรับหลักเกณฑ์การรายงานผู้เสียชีวิตใหม่โดยรายงานเฉพาะผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดโดยตรง (Died from Covid) ไม่นับผู้เสียชีวิตจากโรคประจำตัวแต่ติดเชื้อโควิด (Died with Covid) เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565

 

2) จำนวนผู้ติดเชื้อ มีการยกเลิกการตรวจ ATK เชิงรุกที่รัฐบาลสนับสนุนให้ สปสช.ดำเนินการ เริ่มวันที่ 15 พฤษภาคม 2565

3) ผู้เข้ารับการตรวจ PCR ลดลงสอดคล้องกับธรรมชาติของไวรัสโอมิครอน ซึ่งติดเชื้อแล้วไม่มีอาการราว 50% จึงไม่ได้เดินทางมาตรวจ PCR

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังเห็นแนวโน้มของโควิดในระลอกที่ 4 ของไทย ณ วันนี้ 16 พฤษภาคม 2565 ว่ามีแนวโน้มลดลงชัดเจนประกอบด้วย

 

  • ผู้ติดเชื้อแบบ PCR 5238 ราย ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2565
  • ผู้ติดเชื้อแบบเอทีเค 3445 ราย ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565

 

กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อได้ลดลงมาก จนเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับจุดเริ่มต้นของระลอกมกราคม 2565 แล้ว(โดยมีข้อจำกัดการรายงานดังกล่าวข้างต้น)

 

โควิดวันนี้ยอดติดเชื้อเป็นขาลงแล้วจริงหรือไม่

 

2) ผู้เสียชีวิต 40 ราย ลดลงราวครึ่งหนึ่งหรือ 50% เมื่อคิดหลักเกณฑ์การรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดแบบใหม่แล้ว
ถ้าเปรียบเทียบแบบเดิม ก็ลดลงต่ำสุด นับตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2565

 

3) ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1271 ราย ต่ำสุดนับตั้งแต่ 11 มีนาคม 2565 
    ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 613 รายต่ำสุดนับตั้งแต่ 24 มีนาคม 2565

กล่าวโดยสรุป

 

โควิดระลอกที่สี่ หรือระลอกมกราคม 2565 ที่เกิดจากไวรัสโอมิครอนของ ประเทศไทยนั้น

 

เมื่อได้รับทราบข้อจำกัดของสถิติรายงานต่างๆแล้ว ก็ยังเห็นแนวโน้มขาลงที่ชัดเจน จนลงมาใกล้เคียงกับ จุดเริ่มต้นของขาขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565

 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปได้ยกระดับของไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 4 และ 5 หรือ BA.4/BA.5 ขึ้นเป็นกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นห่วงกังวล (VOC) เทียบเท่ากับโอมิครอนตัวแม่แล้ว

 

จึงต้องเฝ้าติดตามการระบาดของไวรัสดังกล่าวในยุโรปว่า จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

 

ส่วนประเทศไทยที่มีมาตรการผ่อนคลายต่างๆโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไม่ต้องตรวจ PCR เพื่อกระตุ้นมิติเศรษฐกิจ และผ่อนคลายมิติสังคม ก็มีความเหมาะสมกับสถานการณ์โควิดที่อยู่ในช่วงขาลง

 

แต่ต้องระมัดระวัง อาจต้องตรวจ PCR หรือกักตัวชาวต่างประเทศเฉพาะที่มาจากประเทศที่มีไวรัส BA.4/BA.5 เป็นหลัก เช่น แอฟริกาใต้หรือโปรตุเกส เป็นต้น

 

จึงจะทำให้เกิดความสบายใจในระดับหนึ่งว่า เราจะไม่เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามาระบาดในประเทศไทยโดยง่ายและรวดเร็วเกินไป